ขึ้น ‘ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย’ หุ้นไหนได้ประโยชน์?

ขึ้น ‘ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย’ หุ้นไหนได้ประโยชน์?

คนไทยควรเตรียมสะตุ้งสตางค์ในกระเป๋ากันให้ดี หลังต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจาก “ค่าไฟฟ้า”

ที่ล่าสุด กกพ. มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. นี้ อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบัน 24.77 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

ซึ่งเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟพุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 4.72 บาทต่อหน่วย แม้นายกฯ จะแตะเบรกขอให้กลับไปทบทวน พร้อมหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง แต่ท้ายที่สุดแล้วค่าไฟคงขึ้นแน่นอน แต่จะขึ้นมากขึ้นน้อยต้องรอติดตาม

ส่วน “ค่าแรงขั้นต่ำ” เตรียมปรับขึ้นเช่นกัน 5-8% ตามทิศทางเงินเฟ้อ โดยเจ้ากระทรวงแรงงานหวังเริ่มดีเดย์ใช้อัตราค่าแรงใหม่ 1 ต.ค. นี้ เร็วขึ้นจากกำหนดการเดิมต้นปี 2566 เพื่อเร่งแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงาน หลังราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

โดยคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ เตรียมประชุมและเคาะค่าแรงใหม่อย่างเป็นทางการ 26 ส.ค. นี้

ขณะที่ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ถูกปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ในอัตรา 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของไทยขยับจาก 0.50% เป็น 0.75% เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงปรี๊ด! ถือเป็นการค่อยๆ ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ หลังใช้นโยบายแบบผ่อนคลายมานาน

ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งค่าไฟ ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จะส่งผ่านมาสู่ลูกค้าคงเพิ่มขึ้นไม่น้อย โดยหอการค้าแห่งประเทศไทยประเมินว่ารอบนี้ต้นทุนของภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5-20% แต่ในขณะเดียวกันยังมีผู้ที่จะได้รับประโยชน์

 

การปรับขึ้นค่าไฟ 

บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกกับกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีโครงการโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยการปรับขึ้นค่า Ft จะช่วยให้มาร์จินของโรงไฟฟ้าดังกล่าวกลับมาขยายตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ประเมินว่าค่า Ft มีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 อีก 1-2 บาทต่อหน่วย เพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันแนวโน้มต้นทุนพลังงานที่ลดลงจะสร้าง positive sentiment ต่อภาระต้นทุนก๊าซธรรมชาติของกลุ่มโรงไฟฟ้า

สำหรับหุ้นโรงไฟฟ้าที่แนวโน้มผลประกอบการฟื้นตัวต่อเนื่อง รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่า Ft และต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวลดลง เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ GPSC, BGRIM, GULF โดยเลือก BGRIM เป็น Top Pick

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า การขึ้นค่าไฟจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีฐานรายได้ SPP สูง อาทิ BGRIM, GPSC รวมทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ค่าไฟเป็นแบบ Adder เช่น BCPG, SPCG, EA, GUNKUL

สวนทางกับบล.เอเซีย พลัส ที่มองว่าการเข้าแทรกแซงของรัฐจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนพลังงานไว้เอง เพราะหากไม่สามารถปรับขึ้นค่า Ft ได้จริง จะส่งผลให้รายได้ไม่สามารถเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงานที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังปี 2565

กดดันอัตรากำไรและผลประกอบการของ BGRIM และ GPSC ซึ่งมีสัดส่วนขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสูงราว 23% และ 26% ของรายได้รวม ตามลำดับ

ขึ้น ‘ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย’ หุ้นไหนได้ประโยชน์?

การปรับขึ้นค่าแรง 

บล.เคทีบีเอสที มองเป็นปัจจัยลบเล็กน้อยต่อกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยบริษัทที่มีสัดส่วน Direct labor จำนวนมากจะได้รับผลกระทบมากสุด นำโดย RT, STEC, SEAFCO, และ PYLON ประเมินค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5% กระทบกำไรบริษัทเหล่านี้ 8-15% โดย CK กระทบน้อยสุดราว 6% เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วน Subcontract สูงถึง 70%

แต่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มไฟแนนซ์ เนื่องจากทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น มีโอกาสเป็น NPL น้อยลง มองบวกต่อ MTC, SAWAD, TIDLOR รวมทั้งกลุ่มบริหารสินทรัพย์ เช่น JMT, CHAYO และ TH

 

การปรับขึ้นดอกเบี้ย

บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า กลุ่มธนาคารจะยังคงเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางและอาจพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ คาดว่ากลุ่มธนาคารจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากในการประชุมรอบหน้าช่วงเดือน ก.ย. หรือ อย่างช้าที่สุดเป็นช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มใช้ค่าธรรมเนียม FIDF ใหม่ในปี 2566 

ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ขึ้นทุกๆ 0.25% จะมีอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ราว 2-4% โดย BBL จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็น KTB, KBANK และ SCB