แกะรอยปม”วัตถุดิบอาหารสัตว์” ยืดเยื้อ “ เผือกร้อน “พาณิชย์ต้องเร่งแก้

แกะรอยปม”วัตถุดิบอาหารสัตว์”  ยืดเยื้อ “ เผือกร้อน “พาณิชย์ต้องเร่งแก้

เปิดไทม์ไลน์ ปัญหา”วัตถุดิบอาหารสัตว์” ยืดเยื้อ หลังสมาคมผู้ผลิตและสมาคมชาวไร่ ยึดจุดยืนของตนเอง แม้พาณิชย์ –เกษตร จะจับมือแก้ปัญหา หวั่นลากยาวไม่พ้น ผู้บริโภคต้องรับภาระอาหารแพง

ปัญหาเรื่องของต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยวัตถุดิบที่กระทบข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลาป่น ซึ่งเป็นสัดส่วนสำคัญในการนำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แม้จะมีความพยายามหลายครั้งในการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานของรัฐ

โดยเมื่อวันที่15 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาที่ประชุมระหว่างปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประชุมาหารือเพื่อแก้ปัญหาและมีมติยกเลิก มาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 : 1 คือ หากนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ผู้นำเข้าต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน  เป็นการชั่วคราว ถึง 31 ก.ค. ซึ่งในแต่ละปีข้าวโพดไทยผลิตได้เองในประเทศราว 5 ล้านตันต่อปี น้อยกว่าความต้องการใช้ที่ 8 ล้านตันต่อปี ขาดแคลนอีกถึง 3 ล้านตันต่อปี   

 

มาตรการ 3:1  ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบออกมาสนับสนุนต่อมติดังกล่าว แต่เมื่อวันที่ 22 มี.ค สมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง สภาเกษตรแห่งชาติและสมาคมการค้าพืชไร่ ได้ออกข่าวไม่เห็นด้วยกับการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 สมาคม เป็นผู้ผลิต และเกษตรกร กลับมีความเห็นที่ไม่ลงรอย ทำให้กรมการค้าภายในได้เชิญนัดประชุมในวันที่ 23 มี.ค.ทันทีเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาหารือเพื่อแก้ไขและผ่อนคลายปัญหาราคาสินค้าวัตถุดิบ อาหารสัตว์

แต่ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในแจ้งลาประชุม โดยไม่อยากสร้างบรรยากาศความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อที่ประชุม พร้อมยืนยันข้อแนวทางสมาคมฯ ทั้งขอให้พิจารณายกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%  มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควต้าภาษีและค่าธรรมเนียมให้สามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณขาดแคลน ในปี 2565 เป็นการชั่วคราว ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้

ต่อมาวันที่ 7 เม.ย.มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเป็นประธาน เพื่อเคาะข้อสรุปการแก้ปัญหาดังกล่าวก่อนนำเสนอครม.เพื่อเห็นชอบต่อไป แต่สุดท้ายก็ไร้ข้อสรุปเนื่องจาก สมาคมผู้ค้าพืชไร่เมินร่วมประชุม ขณะที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ส่งตัวแทน ทำให้ต้องนัดประชุมใหม่ 11 เม.ย.เพื่อหาข้อยุตินี้ก่อนเสนอต่อนบขพ.อีกครั้ง  

ล่าสุดการประชุมวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมาก็ยังมีความขัดแย้งระหว่างสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังและสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพราะสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง ออกมาให้ข่าวว่าที่ประชุมให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบข้อตกลง WTO ในภาษี 0% ปริมาณ 380,000 ตัน นำเข้าได้ 4 เดือน คือตั้งแต่ เดือน เม.ย. -ก.ค. 2565 เท่านั้น ตามปริมาณความต้องการที่ยังคงขาดอยู่และประกันราคาข้าวโพด12.50 บาทต่อกก.

พอมาวันที่ 12 เม.ย.ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ก็ออกมาสวนทันควันว่า ข้อสรุปดังกล่าวเป็นการบิดเบือนผลที่ประชุมโดยทำหนังสือด่วนถึงปลัดพาณิชย์ขอให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า สมาคมไม่มีอำนาจประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ไม่รับข้อเสนอห้ามขึ้นราคาอาหารสัตว์และตัวเลขผลผลิตข้าวโพดหลังนาที่มีเพียง 0.39 ล้านตัน มิใช่ 0.83 ล้านตัน ทำให้การประชุมทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้า  

ความเห็นต่างของทั้งผู้ผลิตและเกษตรกรที่ยังคงยืนยันจุดยืนของตนเองทำให้การแก้ปัญหาราคาอาหารสัตว์ยืดเยื้อ ขณะที่คนกลางคือกระทรวงพาณิชย์เองก็มีนโยบายการแก้ปัญหาโดยยึดให้  3 ฝ่ายคือ  ผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภคต้องได้รับประโยชน์ร่วมกันไม่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้ท่ามกลางวิกฤตราคาวัตถุดิบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และยิ่งเนิ่นนานไปจะส่งผลให้อาหารสัตว์ในประเทศยิ่งแพงขึ้น ทำให้อาหารทั้งไก่ ไข่ เนื้อสัตว์ปรับราคา สุดท้ายผู้ที่ต้องแบกภาระเพิ่มคือ ผู้บริโภคนั่นเอง