‘ธุรกิจ’ ปรับแผนรับ 'เศรษฐกิจทรุด' !!!

‘ธุรกิจ’ ปรับแผนรับ 'เศรษฐกิจทรุด' !!!

‘ธุรกิจ’ เร่งปรับแผนรับมือเศรษฐกิจครึ่งปีหลังชะลอ จากสถานการณ์ผันผวน คุมค่าใช้จ่ายเน้นเติบโตธุรกิจหลัก เพิ่มทักษะพนักงาน ห่วงปัจจัยลบวิกฤติรัสเซียยูเครนยืด ผู้ประกอบการ ลุ้นครึ่งปีหลัง อสังหา ท่องเที่ยวฟื้น

‘ธุรกิจ’ เร่งปรับแผนรับมือเศรษฐกิจครึ่งปีหลังชะลอ จากสถานการณ์ผันผวน หวั่น สงครามรัสเซีย ยูเครน ยืดเยื้อจับตาสถานการณ์ วิกฤติศรีลังกา ลามโดมิโน เอฟเฟ็กต์ ฉุดกำลังซื้อชะลอตัวต่อเนื่อง เร่งคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น “เอไอเอส” เน้นการเติบโตในธุรกิจหลัก รักษาสภาพคล่อง “ไอบีเอ็ม” เน้นความยั่งยืน ทำงานร่วมพันธมิตร ลุ้นครึ่งปีหลัง “ท่องเที่ยว” ขยับ หวังตลาด “จีนเที่ยวไทย” ดันยอดทัวริสต์ต่างชาติปีนี้แตะ 7-8 ล้านคน “โรงแรม” เร่งเพิ่มมัลติสกิลพนักงานรับ

ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยยังไม่สู้ดีนัก จากสถานการณ์ความผันผวนทั่วโลกที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญ วิกฤติสงครามรัสเซีย ยูเครนยังไม่จบ ขณะที่ ภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงานทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าไว้วางใจ โรคระบาดยังคงสั่นคลอนความเชื่อมั่นการลงทุน การปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤติที่ทั้งคุมได้ และคุมไม่ได้คงเป็นสิ่งเดียวที่ภาคธุรกิจทำได้ในตอนนี้ 
 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” วิกฤติที่ยังลากยาว ทั้งโควิด สงคราม เงินเฟ้อ และปัจจัยลบอื่นๆ กระทบภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของเอไอเอส จะเน้นรักษาการเติบโตของธุรกิจหลักเอาไว้ให้ได้ 

"เอไอเอส จะเร่งสร้างรายได้จาก Growth Driver ในธุรกิจลูกค้าองค์กร เน็ตบ้าน และ ดิจิทัล เซอร์วิส รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านเครือข่าย ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทั้ง โมบาย และ ฟิกซ์บรอดแบนด์ด้วยการลงทุนต่อเนื่อง รองรับการใช้งานของลูกค้า และการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นของภาคอุตสาหกรรม"  
 

‘เอไอเอส’ ปรับสู่ดิจิทัล100%-คุมต้นทุน

รวมถึงการควบคุม และบริหารจัดการต้นทุน ด้วยการปรับมาเป็น Digital Process แบบ 100% ทั้งภายในองค์กรและการให้บริการลูกค้า พร้อมระมัดระวังค่าใช้จ่ายใน Operation Process รวมถึงวางแผนการลงทุนใหม่ๆเพื่อยกระดับคุณภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ที่สำคัญ ต้องบริหารสภาพคล่องให้ดี เพื่อให้พร้อมรองรับสถานการณ์ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอจากวิกฤติเศรษฐกิจในภาพรวม

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง คือสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อภาพรวม อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ และของบริษัท ดังนั้นนอกเหนือจากการโฟกัส ที่ 3 ด้าน คือ ธุรกิจหลักอย่าง 5จี, ธุรกิจลูกค้าองค์กรและเน็ตบ้านที่เป็น Growth Engine และ ธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัล แล้ว เอไอเอส ยังขอเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นกำลังซื้อ ผ่านการร่วมมือกับ Strategic Partner ในหลากหลายอุตสาหกรรม ผลักดันเศรษฐกิจฐานล่าง อย่างการอาสาแบ่งเบาภาระของลูกค้าให้สามารถใช้ AIS point เป็นส่วนลดค่าสินค้าบริการจากร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศกว่า 4 แสนร้านค้าด้วย

ไอบีเอ็มวางแนวทางมุ่ง “ยั่งยืน”

นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง กล่าวว่า แนวทางในไทยจะสอดคล้องไปกับนโยบายระดับโลก ที่แบ่งการทำงานออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน คือ ด้านเทคโนโลยี และที่ปรึกษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของธุรกิจและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดผลักดันให้ต้องปรับใช้ดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ ทิศทางธุรกิจจากนี้มุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “The New Era of Sustainable Business : Underpinned by AI & Hybrid Cloud” ผ่าน3 พันธกิจหลัก 1.สร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับลูกค้า และอีโคซิสเต็มพาร์ทเนอร์ 2. นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็น โอเพ่นไฮบริดคลาวด์แพลตฟอร์ม เอไอสำหรับธุรกิจ ฯลฯ และ 3.พัฒนาคนรองรับการพัฒนาธุรกิจและประเทศอย่างยั่งยืนตอบโจทย์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

ปีนี้ไอบีเอ็มมีแผนทำงานร่วมกับพันธมิตรในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการพัฒนาคน เบื้องต้นจะเข้าไปทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยตั้งเป้าว่าภายในครึ่งปีจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอย่างน้อยสองแห่งขณะที่การทำงานร่วมกับลูกค้า เน้นรูปแบบพัฒนาร่วมกัน โมเดลที่ยืดหยุ่น โดยจะเริ่มจากโครงการเล็กๆ แล้วค่อยๆ ปรับแก้ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง

อสังหาฯ ลุ้นครึ่งหลังศก.ไต่ระดับฟื้นตัว

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ทำให้ทุกบริษัทพร้อมเดินหน้าลงทุนตามแผนธุรกิจ เพราะมีปัจจัยบวก จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของรัฐที่ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงสิ้นปี 2565 รวมถึงผ่อนปรนมาตรการแอลทีวี จากธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

“พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมเริ่มปรับตัวให้อยู่กับโรคโควิด-19 แม้จะมีการกลายพันธุ์ แต่การใช้ชีวิตเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางจะมากขึ้นเป็นลักษณะทยอยฟื้นตัว”

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไตรมาสแรกภาพรวมตลาดอสังหา ยังเหนื่อย ยิ่งมีปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อาจต้องพิจารณาการชะลอการเปิดตัวโครงการโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เพราะในสถานการณ์แบบนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากนัก ส่วนตลาดแนวราบไปได้โดยเฉพาะบ้านเดี่ยว 

“ภาพรวมคอนโดมิเนียม และแนวราบจะไม่แย่ไปกว่าปีที่แล้ว แต่อาจจะไม่ดีเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะปัจจัยลบที่เกิดขึ้นใหม่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน กำลังซื้อ และอารมรณ์ซื้อของคน ทั้งๆ ที่ตลาดน่าจะโตได้มากกว่านี้”

ลุ้น “จีนเที่ยวไทย” โกลเด้นวีค ต.ค.65

นายวิชิต ประกอบโกศล ประธาน บริษัท ซี.ซี.ที.เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ประกอบการทัวร์รายใหญ่ตลาดจีนเที่ยวไทย และรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลปลดล็อกมาตรการเดินทาง “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” ให้เริ่มมีผลภายในไตรมาส 2 นี้ ไทยมีโอกาสดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลังได้อย่างน้อย 5 ล้านคน

“ยิ่งเปิดประเทศเต็มรูปแบบได้เร็วเท่าไร ยิ่งชิงความได้เปรียบจากคู่แข่ง ที่ทยอยประกาศเปิดประเทศกันมากขึ้น หากไทยเปิดเต็มรูปแบบช้า ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้น้อย แสดงให้เห็นว่า การทำตลาดของเราประสบความล้มเหลว”

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการให้จีนเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ต้องดูว่าเป็นการเปิดประเทศเต็มรูปแบบหรือไม่ หรือเปิดแบบยังมีเงื่อนไขอยู่ หากเปิดเต็มรูปแบบ คาดภาพรวมเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 7-8 ล้านคนในปีนี้

“ตอนนี้มีข่าวของเอกชนท่องเที่ยวที่เข้าถึงวงในของรัฐบาลจีน ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่วันที่ 1 ต.ค.2565 ซึ่งตรงกับวันชาติจีน ทางรัฐบาลจีนจะเปิดให้ชาวจีนออกท่องเที่ยวนอกประเทศได้ คาดว่าน่าจะเดินทางมาไทยจำนวนมาก"

จับตา"กรุ๊ปทัวร์เล็ก”เน้นเที่ยว-พักผ่อน

นายวิชิต กล่าวต่อว่า แนวทางการปรับตัวในยุคฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ผู้ประกอบการบริษัททัวร์พร้อมบริการทุกอย่างให้นักท่องเที่ยวประทับใจ หลังรอฟื้นตัวมานานกว่า 2 ปี ปีนี้คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาไม่ถึง 10 ล้านคน จากที่เคยได้เมื่อปี 2562 ก่อนเจอโควิดเกือบ 40 ล้านคน และแนวโน้มปี 2566 คาดฟื้นตัว 70% และปี 2567 ฟื้นตัว 100%

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ประกอบการบริษัททัวร์ยังขาดเงินทุน เพื่อนำมารีสตาร์ทธุรกิจเพื่อดึงพนักงานกลับมา นอกจากนี้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ ที่เปลี่ยนไปหลังเจอการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการรถบัสนำเที่ยวขนาด 30-40 ที่นั่ง ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะการเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่ลดลง ถูกแทนที่ด้วยเทรนด์การเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก ใช้รถตู้รับส่งแทน ชอบโปรแกรมเที่ยวแบบอิสระ เน้นเที่ยวเพื่อการพักผ่อนมากขึ้น อยู่ในโรงแรมมากขึ้น และเลือกร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์ในตัวเมือง ต่างจากยุคก่อนโควิดที่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จะกินอาหารที่ร้านแถบชานเมืองตามโปรแกรมที่บริษัทนำเที่ยวจัดให้ และเน้นเที่ยวและชอปปิงเป็นหลัก

โรงแรมเร่งอัพสกิลทักษะพนักงาน

นางประชุม ตันติประเสริฐสุข ประธานฝ่ายการตลาดสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)  กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในช่วงการฟื้นตัว ขณะนี้ประสบปัญหาเรื่องพนักงาน เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพนักงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักจนต้องออกจากวงการไปทำอาชีพอื่น ทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องปรับให้พนักงานที่มีอยู่มีทักษะการทำงานหลายอย่าง (Multi-Skills) อย่างน้อย 3 ด้านในตัวคนเดียว

“ผู้ประกอบการโรงแรมต้องนำเสนอบริการอันยอดเยี่ยมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาพร้อมความคาดหวังสูง (High Expectation) และรักษาหัวใจบริการนั่นคือความเป็นไทย เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง”

“นกแอร์” ชี้สงครามยืดเยื้อเสี่ยงครึ่งปีหลัง

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นกแอร์ประเมินแนวโน้มครึ่งปีหลังของธุรกิจสายการบินว่ายังมีความเสี่ยงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลต่อราคาน้ำมันที่อาจพุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสายการบิน รวมทั้งปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่า เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาต้องใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่มาตรการเปิดประเทศของตลาดเป้าหมายยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาและเตรียมตัวให้พร้อมในการรองรับดีมานด์ โดยเฉพาะตลาดจีนที่ประเมินว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ อาจจะเห็นทางการจีนผ่อนคลายมาตรการเดินทาง เริ่มเปิดให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ

โดยนกแอร์มีแผนขยายฝูงบินรองรับการกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศในช่วง 2 ปีนี้ ตั้งแต่ปี 2565-2566 อีก 6 ลำ จากปัจจุบันมีฝูงบินให้บริการ 17 ลำ โดยเครื่องบินใหม่ส่วนหนึ่งจะนำมาทำการบินสู่จีน อินเดีย ญี่ปุ่น (โอซาก้า) และเวียดนาม (โฮจิมินห์ซิตี้) คาดว่านกแอร์จะเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.

นายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ธุรกิจสายการบินจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวกว่า 2 ปีเริ่มคลี่คลาย นกแอร์คาดหวังว่าหลายประเทศจะกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบกันอีกครั้ง ผลักดันยอดผู้โดยสารของนกแอร์ฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.2-1.3 หมื่นคนต่อวัน เพิ่มจากปัจจุบันที่มี 1 หมื่นกว่าคนต่อวัน จากปริมาณเที่ยวบินที่ให้บริการเพียง 50% ของปริมาณเที่ยวบินเดิมก่อนวิกฤติโควิด-19 

หวั่นแบกต้นทุนไม่ไหว

แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า แนวโน้มการผลิตสินค้าจำเป็นในช่วงครึ่งปีหลัง ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจ ซ้ำยังเผชิญปัจจัยลบหนักขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะภาวะต้นทุนวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหาร ซึ่งฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผลททางการเกษตรใหม่ทิศทางราคามีแต่จะพุ่งขึ้น เช่น ปาล์มดิบ เกษตรกรสวนปาล์มไม่ยอมรับราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม ราคาแป้งสาลีในตลาดโลกที่จะขยับจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

“แนวโน้มครึ่งปีหลังจะแบกรับภาวะไม่ไหว และสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย มีแต่แย่และหนักกว่าเดิม”

นอกจากนี้ สถานการณ์หลายประเทศสาหัสขึ้นทั้งสงคราม วิกฤติศรีลังกา อาจเป็นโดมิโนลามโลก ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอย

“ครึ่งปีหลัง รัฐจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่กำลังซื้อก็ไม่กลับมา โดยเฉพาะประชากรฐานรากที่ไม่มีเงิน ทำให้การซื้อสินค้าจำเป็นมีขนาดเล็กลง อย่างการขายสินค้าออนไลน์ 30 รายการส่งฟรี ลูกค้าไม่เลือก ขอเป็น 10 ชิ้นส่งฟรีแทน”

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบการขนส่งสินค้า แต่ยังไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าของบริษัท เพราะเป็นต้นทุนเดิมที่ทำสัญญาล่วงหน้า 6 เดือน ซึ่งครึ่งปีหลังจะมาพิจารณาต้นทุนกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี สินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งสัญญาณแบกภาระต้นทุนไม่ไหว ต้องการขยับราคาสินค้า ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว สินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิต บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ฯ ซึ่งที่ผ่านยังมีสินค้าปรับไซส์ ปรับราคาล่วงหน้าแล้วเช่นกัน