เริ่มแล้ว! เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” แต่งไทยเที่ยว 10 วัดในกรุงเทพฯ

เริ่มแล้ว! เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” แต่งไทยเที่ยว 10 วัดในกรุงเทพฯ

“ททท.” เปิดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” ระหว่าง 9-17 เม.ย.2565 ณ พระอารามหลวง 10 แห่งในกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด" หนุนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย เติบโตอยู่ที่ 458,907 คน-ครั้ง สร้างรายได้ 1,800 ล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงการจัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ในปีนี้ว่า ททท. สืบสานและ อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล สงกรานต์ มาอย่างต่อเนื่อง และภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ททท. ได้พิจารณาปรับแผนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข โดยกำหนดจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด" เคร่งครัดมาตรการ COVID Free Setting

มุ่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านคุณค่าของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงามของคนไทย เช่น รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร รวมถึงการแสดงเชิงวัฒนธรรม อาทิ โขน และดนตรีร่วมสมัย ทั้งจัดสรรโซนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและ อาหารท้องถิ่น ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ควบคู่กับการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทย พร้อมเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวมุมมองใหม่ที่มีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจในปีท่องเที่ยวไทย 2565 หรือ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters นี้

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ททท. กำหนดจัดกิจกรรม “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. ณ พระอารามหลวง 10 แห่ง ซึ่งพิธีเปิดงานเทศกาลฯ มีขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 2565 เมื่อเวลา 09.00 น. ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยได้รับเกียรติจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี

สัมผัสกลิ่นอายของ เทศกาลสงกรานต์ ด้วยขบวนแห่ทางวัฒนธรรม นำโดยนักแสดงสังกัด ช่อง 7HD นาว-ทิสานาฏ ศรศึก พร้อมด้วย นางสงกรานต์ และพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและพิธีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสตามประเพณีไทย ทั้งนี้ การจัดงานเทศกาลฯ แบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางตามความสนใจ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์และรายละเอียดกิจกรรมที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

กิจกรรมหลัก จัดขึ้นในพื้นที่พระอารามหลวง 2 แห่ง ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดย ททท. เนรมิตบรรยากาศปีใหม่ไทย เติมความสุขประทับใจกับสงกรานต์วิถีใหม่ ผ่านกิจกรรมการสรงน้ำพระเสริมมงคลมหาสงกรานต์ (วันที่ 9-17 เมษายน 2565) พร้อมเพลิดเพลินการแสดงทางวัฒนธรรม (วันที่ 13-15 เมษายน 2565) เช่น โขน ลำตัด หุ่นละครเล็ก และการแสดงร่วมสมัย พร้อมร่วมสนุกวิถีไทยกับ AR Activity “สวัสดีปีใหม่ไทย สุขใจมหาสงกรานต์” กับน้องสุขใจ เล่นเกม E-Stamp และถ่ายภาพกับแลนด์มาร์ก พิเศษสุดๆ หากนักท่องเที่ยวถ่ายภาพครบทั้ง 10 แห่ง จะได้รับของที่ระลึกจาก ททท. โดยส่งหลักฐานผ่าน Line Official : TATSONGKRANTEMPLE จำกัด 1 รายชื่อ 1 สิทธิ์ ตลอดระยะเวลาจัดงาน จากนั้นอิ่มอร่อยรับปีใหม่ไทยในโซนบูธร้านอาหารขึ้นชื่อของชุมชนต่าง ๆ  และเลือกชมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การสาธิตมรดกภูมิปัญญาไทยและกิจกรรม DIY เช่น สาธิตการทำขนมไทย การแกะสลัก เกิดเป็นผลงานหนึ่งเดียวไม่ซ้ำใคร

ขณะที่ พระอารามหลวงอีก 8 แห่ง ได้แก่ วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดราชนัดดาวรวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ททท. แต่งเติมบรรยากาศความสุขเทศกาลสงกรานต์วิถีใหม่แบบไทยๆ ระหว่างวันที่ 9–17 เมษายน 2565 เวลา 09.00–18.00 น. จัดกิจกรรมสรงน้ำพระเสริมมงคล เช็กอินจุดถ่ายภาพแลนด์มาร์กของแต่ละพื้นที่ และร่วมสนุกไปกับ AR Activity

นอกจากนี้ ททท.ตระหนักถึงความปลอดภัยและพร้อมส่งมอบประสบการณ์สงกรานต์ที่ปลอดภัยด้วยมาตรฐานสาธารณสุข โดยกำหนดให้ผู้ร่วมงานต้องเข้ารับการคัดกรองอุณหภูมิ และดำเนินมาตรการการจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามมติประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 กำกับกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์อย่างเคร่งครัด ขอให้งดการสาดน้ำ ประแป้ง รวมถึงห้ามดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้เข้าชมงานมีความมั่นใจด้านความปลอดภัยมากขึ้น เช่น เว้นระยะห่างในการรับชมการแสดง บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กำหนดโซนรับประทานอาหาร (เปิดหน้ากาก) จัดเตรียมน้ำบรรจุในขวดสำหรับสรงน้ำพระ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสร่วม เป็นต้น

“ทั้งนี้ ททท. คาดว่าเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ในพื้นที่ไฮไลท์กรุงเทพมหานครตลอดระยะเวลาจัดงาน จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวอยู่ที่ 458,907 คน-ครั้ง และสร้างรายได้ 1,800 ล้านบาท”

เริ่มแล้ว! เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” แต่งไทยเที่ยว 10 วัดในกรุงเทพฯ เริ่มแล้ว! เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” แต่งไทยเที่ยว 10 วัดในกรุงเทพฯ เริ่มแล้ว! เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” แต่งไทยเที่ยว 10 วัดในกรุงเทพฯ เริ่มแล้ว! เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” แต่งไทยเที่ยว 10 วัดในกรุงเทพฯ

เริ่มแล้ว! เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” แต่งไทยเที่ยว 10 วัดในกรุงเทพฯ