เปิดสถิติ 15 ปี "หนี้สาธารณะ" ของไทย ก่อนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เปิดสถิติ 15 ปี "หนี้สาธารณะ" ของไทย ก่อนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ชวนทุกคนย้อนดูสถิติ "หนี้สาธารณะ" ของไทย ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นำไปสู่การมีตัวเลขหนี้ ทะลุ 60% ของจีดีพี สูงสุดเป็นประวัติการณ์

วิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวกว่า 2 ปี และภาครัฐต้องใช้ยาแรงผ่านมาตรการคุมเข้มเพื่อสกัดการแพร่ระบาด จนส่งผลต่อทั้งการดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของประชาชน ต่อเนื่องสู่การหดตัวครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ กระทั่งรัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ บรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น

ขณะที่รายได้รัฐบาลน้อยลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อกอบกู้สถานการณ์ ทางออกที่เกิดขึ้นจึงเป็นการ “กู้เงิน” หรือตั้งงบประมาณขาดดุล แต่ไม่ว่าจะวิธีการใดต่างก็ล้วนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น 

  • การเพิ่มขึ้นของ "หนี้สาธารณะ" ไทย

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ครั้ง มูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านบาท และยังมีการตั้งงบประมาณปี 2564 และปี 2565 ขาดดุลที่ 6.23 และ 7 แสนล้านบาท ตามลำดับ เพื่อนำเงินมาใช้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน 

การก่อหนี้ดังกล่าว มีผลให้ระดับหนี้สาธารณะไทยพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตลอด 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ถึง  2.44 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นราว 17.7% ต่อปี

จากข้างต้น ทำให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ระดับ 58.31% ต่อจีดีพี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้มีผลให้ไทยมีช่องว่างในก่อหนี้หรือพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) เหลือน้อยลงมาก เนื่องจากเพดาหนี้สาธารณะในเวลานั้นคือ 60% ต่อจีดีพี ซึ่งการที่เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ เป็นผลให้ช่องว่างที่เหลือดังกล่าวดังกล่าว หมายถึงความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น้อยลงตามไปด้วย 

จึงเป็นที่มาให้รัฐบาลเห็นชอบปรับกรอบเพดานหนี้จาก 60% สู่ระดับ 70% ต่อจีดีพี โดยมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2564 

 

เปิดสถิติ 15 ปี \"หนี้สาธารณะ\" ของไทย ก่อนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ล่าสุด เมื่อ 1 เม.ย.65 ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เปิดเผย ยอดหนี้สาธารณะไทยล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ราว 9.8 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับ 60.17%

นอกจากนั้น ในวันที่ 12 เม.ย.65 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ตามที่ทางสบน.เสนอ ซึ่งการปรับปรุงแผนครั้งนี้จะมีผลให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างปรับตัวขึ้นเป็น 62.76% ต่อจีดีพี โดยตัวเลขดังกล่าวถือว่า ยังอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะใหม่ ที่เพิ่งขยายออกไปที่ระดับ 70% ต่อจีดีพี และไม่หลุดจากกรอบวินัยการเงินการคลังที่ได้มีการกำหนดไว้ 

  •  ภาวะวิกฤติกับความจำเป็นในการก่อหนี้ของรัฐ 

เหตุการณ์หนี้สาธารณะดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพรม์ หรือที่รู้จักกันชื่อ “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” (Hamburger Crisis) นั้น หนี้สาธารณะไทยในปีงบประมาณ 2552 เพิ่มขึ้นสูงจากปีก่อนถึง 21.20% หรือกว่า 5.9 แสนล้านบาท แต่เมื่อวิกฤติดังกล่าวผ่านไป ในปีต่อมาหนี้สาธารณะลดลงไป 5.97% และขนาดเศรษฐกิจขยายตัวกว่า 1.17 ล้านบาท 

ฉะนั้น ในภาวะวิกฤติ การก่อหนี้อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ เพื่อนำเงินดังกล่าวมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งยังบรรเทาผลกระทบ และภาระของภาคธุรกิจ และประชาชน ซึ่งหากการดำเนินการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ประเด็นสำคัญของไทยไม่ได้อยู่ที่เพียงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตัวเลขหนี้สาธารณะ แต่ยังรวมไปถึง “แผนการใช้เงิน” และ “การบริหารจัดการหนี้สาธารณะ” ของรัฐบาลที่จะต้องนำมาร่วมพิจารณาด้วย 

  • สำรวจแนวโน้ม “หนี้สาธารณะโลก”  ย้อนดู “ไทย” แบกหนี้สูงเกินไปหรือไม่ 

การเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ของแทบทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2563 หนี้ทั่วโลกพุ่งแตะระดับ 226 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในส่วนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นภายในปีเดียวถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลก ครั้งที่ 2 และจากตัวเลขดังกล่าว มากกว่าครึ่งเป็นการก่อหนี้ของรัฐบาลทั่วโลก เป็นผลให้หนี้สาธารณะรวมดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 99% ต่อจีดีพีโลก 

ต่อมาใน ปี 2564 หนี้สาธารณะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นราว 7.8% ทำให้หนี้สาธารณะรวมแล้วอยู่ที่ 65.4 ล้านล้านดอลลาร์ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะผ่านมากกว่า 2 ปีแล้ว แต่สถานการณ์โควิดทั่วโลกนั้นก็ยังไม่มีความแน่นอน เศรษฐกิจในหลายประเทศก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปยืนอยู่ที่จุดเดิมได้ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลหลายแห่งยังมีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม 

เจนัส เฮเดอร์สัน บริษัทจัดการสินทรัพย์อังกฤษ คาดว่า ปี 2565 นี้ หนี้สาธารณะยังคงเพิ่มขึ้นอีก 9.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น 

สำหรับ ประเทศไทย การไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา คือ การทำลายแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วน 20% ต่อจีดีพี จึงมีการคาดว่าสถานการณ์หนี้สาธารณะของไทยจะดีขึ้นตามลำดับ จากการสามารถเปิดรับท่องเที่ยวได้มากขึ้นในปีนี้ ที่จะมีผลต่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล 

นอกจากนี้ หากเทียบกับนานาประเทศ ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยนั้นยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แม้จะทะลุ 60% ต่อจีดีพีไปแล้วก็ตาม โดยหากวัดตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงินของไทย การแบกหนี้จำนวนดังกล่าวยังถือว่าไม่สูงเกินไป สะท้อนจากความน่าเชื่อถือของประเทศ (Sovereign Credit Rating) ที่ยังอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ตามการจัดของ Fitch Rating 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังคงน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งยังมีส่วนให้รัฐต้องสำรองงบประมาณอีกจำนวนไม่น้อยเพื่อจัดสรรสวัสดิการที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุ ทำให้ไทยมีแนวโน้มจะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกไม่มากก็น้อย  

-----------------------------------------

อ้างอิง

กรมประชาสัมพันธ์  , ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักบริหารหนี้สาธารณะ InfoQuest Visual Capitalist 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์