เปิดมติ ครม.สร้างหมอเพิ่ม 1.3 หมื่นคน งบฯ 5 หมื่นล้าน ใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง  

เปิดมติ ครม.สร้างหมอเพิ่ม 1.3 หมื่นคน  งบฯ 5 หมื่นล้าน ใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง  

“แพทย์” หรือว่า “หมอ” ถือว่าเป็นอาชีพสำคัญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ รักษาชีวิตของคนเอาไว้ ถือว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะช่วยรักษาชีวิตของคนที่ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ ล่าสุด ครม.เพิ่งอนุมัติงบฯกว่า 5 หมื่นล้าน สร้างหมอเพิ่ม 1.3 หมื่นคน

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่หมอต้องทำงานหนัก หากดูจากจำนวนแพทย์ที่มีอยู่เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรถือว่าหมอของเรารับหน้าที่หนักกว่าหมอประเทศอื่นๆหลายเท่าตัว โดยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่าประเทศไทยมีหมออยู่ทั้งสิ้น 39,156 คน คิดเป็นอัตราหมอต่อประชากรไทยอยู่ที่ 1 : 1,674 คน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่าควรมีสัดส่วนอยู่ที่ 1:1,200 คน  

หมอในประเทศไทยยังรับภาระการรักษาคนไข้เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรสูงกว่าประเทศในอาเซียนบางประเทศ เช่น ในสิงคโปร์สัดส่วนอยู่ที่ 1:436  และในมาเลเซียสัดส่วนอยู่ที่ 1: 651 จะเห็นว่าด้วยสัดส่วนนี้หมอไทยรับบทหนักกว่าหมอในสองประเทศนี้หลายเท่า

 

ตั้งเป้าผลิตหมอเพิ่ม13,318 คนใน 5 ปี 

ด้วยปัญหาดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป็นเป้าหมายว่าต้องเพิ่มจำนวนหมอในไทยอีก 13,318 คน ระหว่างปี 2565 – 2570 เพื่อให้จำนวนหมอในปี 2576 เพิ่มขึ้นเป็น 56,648 คน ทำให้ได้สัดส่วนอัตราส่วนทางการแพทย์ต่อประชากรๆไทยเท่ากับ 1: 1,209 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่สาธารณสุขกำหนดไว้

ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตหมอให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาได้อนุมัติโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเติมจำนวน 13,318 คน ระหว่างปี 2565 – 2570 วงเงินรวม 50,608.40 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯระยะที่ 2 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) 6,586 คน งบประมาณ 25,026.8 ล้านบาท และโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯระยะที่ 2 ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 6,732 คน วงเงินรวม 2,5518.60 ล้านบาท

ผลิตหมอ 1 คนใช้งบฯ 3.8 ล้านบาท

ทั้งนี้การอนุมัติวงเงินในการผลิตแพทย์ฯในครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 50,608.40 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 3.8 ล้านบาทต่อคน แบ่งเป็นรายจ่ายดังนี้

1.งบดำเนินการในการผลิตบัณฑิต ในอัตรา 300,000 บาทต่อคนต่อปี ระยะเวลา หรือ 1.8 ล้านบาทต่อคน

2.งบลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในอัตรา 2 ล้านบาทต่อคน รวมจำนวน 26,636 ล้านบาท โดยเฉลี่ยการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 – 2570 ต่อเนื่องกันจนนักศึกษารุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2576

เกณฑ์การรับนักศึกษาตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเติม

1)กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ในพื้นที่ชายขอบ พื้นที่ขาดแคลน หรือนักเรียนที่มี ภูมิลำเนาไม่อยู่ในเขตอำเภอเมือง ทั้งนี้ เพื่อทดแทนการรับนักเรียนตาม โครงการกระจายแพทย์ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2560

2) กลุ่มสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เน้นการรับข้าราชการสังกัด สป.สธ. ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เนื่องจากพบว่า มีอัตรา การคงอยู่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขสูงกว่าการรับนักเรียนมัธยม

และ 3) กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน เป็นการรับนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักเกณฑ์การรับเดิมของโครงการผลิตแพทย์เพื่อ ชาวชนบทที่ สธ. และมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือได้กำหนดร่วมกันและมี การรับเข้าตามภูมิลำเนา และคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยประกาศ ทั้งนี้ สธ. และมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือได้มีการกำหนดโควตาและ พื้นที่การรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้อง กลับไปปฏิบัติงานในจังหวัดภูมิลำเนาหรือเขตสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งต่อไป