“สงคราม-เงินเฟ้อ” ทุบซ้ำความเชื่อมั่นโรงแรมเดือน มี.ค.65

“สงคราม-เงินเฟ้อ” ทุบซ้ำความเชื่อมั่นโรงแรมเดือน มี.ค.65

สมาคมโรงแรมไทย-แบงก์ชาติ เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโรงแรมที่พักเดือน มี.ค.65 พบโรงแรมส่วนใหญ่ยังช้ำ รายได้ต่ำ กลับมาไม่ถึง 30% เทียบกับก่อนวิกฤติโควิด-19 เจอปัญหา “เงินเฟ้อ” ทุบซ้ำ สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ฉุดต่างชาติยกเลิกจองห้องพัก ชะลอการเดินทาง

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน มี.ค.2565 โดย สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโรงแรมตอบแบบสำรวจจำนวน 127 แห่ง โดยเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (AQ) 13 แห่ง และฮอสพิเทล 10 แห่ง พบว่าโรงแรม 79% เปิดกิจการปกติ เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.2565 ซึ่งอยู่ที่ 72% ส่วนโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วน 2% ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 1 ปี และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งอย่างเร็วตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในเดือน มี.ค.2565 โรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงเดือน ก.พ. โดยโรงแรมที่รายได้กลับมาไม่ถึง 30% เมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติโควิด-19 ยังมีสัดส่วนราว 50% และโรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งยังมีสัดส่วนเพียง 19% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 33% ใกล้เคียงเดือน ก.พ. 65 ที่ 34% มีแรงสนับสนุนจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” การผ่อนคลายมาตรการ Test & Go และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

สำหรับปัจจัยหลักที่กระทบธุรกิจ โรงแรมกว่า 90% มีต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้าที่สูงขึ้น และผลจากประชาชนลดการท่องเที่ยวในประเทศและทำกิจกรรมนอกบ้านเป็นสำคัญ โดยมีโรงแรมที่ได้รับผลกระทบมากถึง 60% เป็นปัจจัยหลักที่กดดันการฟื้นตัวของธุรกิจ รองลงมาคือต้นทุนด้านสาธารณสุข 48% ขณะที่มีเพียง 15% ได้รับผลกระทบมากจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ส่วนผลกระทบของโอมิครอน ไม่ได้รุนแรงกว่าระลอกเดลต้า ใกล้เคียงสำรวจรอบก่อน โดยมีโรงแรมเพียง 7% ที่มองว่าการแพร่ระบาดโอมิครอน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรุนแรงกว่าการแพร่ระบาดระลอกก่อน หรือช่วงล็อคดาวน์ ส.ค.-ต.ค.2564 โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสานที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้านความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม ผ่านช่องทางนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางเป็นหลัก หรือคิดเป็น 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ รองลงมาคือ ลูกค้ายกเลิกการจองห้องพัก 25% และปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงิน 12% ขณะที่บางส่วนได้รับผลกระทบส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้าที่สูงขึ้น และการปิดเส้นทางบิน 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงแรมกว่า 90% เห็นลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักแล้ว ยกเว้นโรงแรมในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า อย่างไรก็ดีอัตราการยกเลิกการจองห้องพักในเดือน มี.ค.65 ยังน้อยกว่าเดือน ม.ค.65 ที่มีการระงับ Test & Go ชั่วคราว

“โรงแรมส่วนใหญ่ยังรับลูกค้าชาวไทยเป็นหลัก โดยเกือบครึ่งหนึ่งยังมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติน้อยกว่า 10% ปัจจัยหลักจะทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวพลิกฟื้นในปี 2565 คือ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการปลดล็อกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางอย่างเร็วที่สุด รูปแบบมาตรการที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ คือตรวจ ATK ครั้งเดียวในวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย และการยกเลิกไทยแลนด์พาสซึ่งขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มยกเลิกมาตรการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แล้ว”

ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่ม ผู้ประกอบการเตรียมปรับราคาสินค้าและบริการ อาจบั่นทอนกำลังซื้อและทำให้การบริโภคของผู้มีรายได้ในแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน นักท่องเที่ยวอาจชะลอการเดินทางจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น

“และหากแนวโน้มความขัดแย้งยืดเยื้อจะส่งผลทางตรงต่อนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี ภาคธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง