ธอส.รับนโยบายตรึงดอกกู้นานถึงสิ้นปี

ธอส.รับนโยบายตรึงดอกกู้นานถึงสิ้นปี

“ธอส.”รับนโยบายตรึงดอกกู้นานถึงสิ้นปี พร้อมปล่อยกู้แม้แบงก์พาณิชย์จะปฏิเสธ คาดสินเชื่อปีนี้พุ่งกว่า 2.7 แสนล้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “แบงก์ปลดล็อกสินเชื่ออสังหาฯ รับตลาดฟื้น”ในงานสัมมนา Property Focus 2022 : Mega Trend อสังหาฯ รับ New Norm จัดโดยนสพ.กรุงเทพธุรกิจว่า ตัวเลขสินเชื่อของธอส.ในไตรมาส 1 ปล่อยใหม่ได้สูงมาก โดยปล่อยไปได้ถึง 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการปล่อยสินเชื่อในช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงที่ปล่อยได้ต่ำที่สุด ฉะนั้น จากนี้ไปถ้าคิด 4 ไตรมาส ก็น่าจะปล่อยได้ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท แต่เราคาดว่า ในปีนี้ เราจะปล่อยได้มากกว่า 2.7 แสนล้านบาท

“เป้าการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการอสังหาฯ และ เป็นดัชนีชี้วัด การฟื้นตัวอสังหาฯว่า ถ้ามีการสร้างที่อยู่อาศัยจะขายใคร ซึ่งขายใครนั้น ตัวเลขสินเชื่อมันฟ้องอยู่แล้ว แต่ถามว่า ใครจะปล่อยสินเชื่อ ก็ธอส.นี่แหล่ะจะเป็นคนปล่อย”

ทั้งนี้ ภายในแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ภายใต้บริบทของประเทศ โดยกนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และโดยนโยบายรัฐบาลผ่านมาทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ธอส.ตรึงดอกเบี้ย ซึ่งเราจะตรึงให้จนถึงสิ้นปี ดังนั้น จึงเรียนว่า ขณะนี้ จึงเป็นภาวะที่ควรซื้ออสังหาฯถ้าท่านพร้อม

“สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของอสังหาฯ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงตรึงไว้ที่ 0.5% แต่เราคาดว่า ราวไตรมาส 3 หรือ 4 กนง.จะปรับขึ้น ขณะที่ ภาครัฐได้ส่งสัญญาณมาให้เรา คือ ตรึงดอกเบี้ย ซึ่งเราก็จะตรึงให้นานที่สุด”

อย่างไรก็ดี ในแง่อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้นนั้น แต่แพคเกจสินเชื่อของธนาคารนั้น เป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น จากนี้ไป 1-2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่แน่นอน และด้วยความเป็นแบงก์รัฐ เราจะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด

“จะเห็นได้ว่า ภาวะวิกฤตโควิดที่ผ่านมา แบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยทั้งหมดและพักชำระหนี้อีกหลายล้าน ฉะนั้น แบงก์รัฐคือคนที่ออกมาช่วยลูกค้าจริงๆ ขณะเดียวกัน ภายใต้สัญญาณที่เห็น คือ วัคซีนที่เข้ามา บวกกับ มาตรการรัฐบาลในการสนับสนุนส่งผลต่อความเชื่อมั่นและคนก็ปรับตัวให้อยู่ภายใต้โควิดแล้ว”

สำหรับตลาดสินเชื่อในขณะนี้ ถือเป็นตลาดของคนที่มีกำลังซื้อใช่ไหม เขากล่าวว่า ต้องบอกว่า เป็นตลาดของคนที่มีความพร้อมมากกว่า เพราะคนที่มีรายได้น้อยที่มีผลกระทบทางด้านรายได้จากโควิดนั้น ทางธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยตรึงดอกเบี้ยให้แม้ว่าความสามารถในการชำระหนี้จะลดลง แต่เขายังได้สินเชื่อในวงเงินเท่าเดิม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ธนาคารคุมไม่ได้ คือ ราคาของอสังหาฯ โดยภายใต้โควิดที่ผ่านมา มีโปรโมชันจำนวนมาก ซึ่งจากยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ปล่อยเฉลี่ยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ได้สูบสต็อกบ้านที่มีไปหมดแล้ว ดังนั้น นับจากนี้ไปจะมีบ้านสร้างใหม่ ซึ่งต้นทุนจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้น ราคาอสังหาฯมีสิทธิ์ปรับขึ้น แต่ว่า เราก็เข้าไปช่วยเรื่องของดอกเบี้ยและวงเงินสินเชื่อให้ แม้รายได้ผู้กู้จะลด

สำหรับการปฏิเสธสินเชื่อนั้น ภายใต้วิกฤตโควิดนั้น แบงก์พาณิชย์ก็ต้องเลือกกลุ่มลูกค้าที่มั่นคงที่สุดสำหรับเขา ก็จะมีกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากแบงก์พาณิชย์ ซึ่งเราก็เข้าไปจัดการปล่อยสินเชื่อภายใต้การบริหารความเสี่ยงของเราเอง ส่วนหนี้เสียนั้น ภาวะหนี้เสียต่ำ เพราะเป็นการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจริง