มนัญญา ลุยจับทุเรียนอ่อนจันทบุรี สร้างความเชื่อมั่นตลาดจีน

มนัญญา ลุยจับทุเรียนอ่อนจันทบุรี สร้างความเชื่อมั่นตลาดจีน

มนัญญา ลุยจับทุเรียนอ่อน พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นทุเรียนไทย ผ่านมาตรฐาน GAP และ GMP Plus

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชลบุรี และจันทบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการในการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามการตัดทุเรียนอ่อนเพราะจะเป็นการทำลายโครงสร้างของการส่งออกทุเรียนทั้งหมด

ซึ่งกรมวิชาการเกษตรยึดหลักการตรวจการส่งออก ตามหลัก GAP, GAP Plus, GMP และ GMP Plus และมาตรการของทางจังหวัดจันทบุรี ที่จะติดตามการส่งออกอย่างเคร่งครัด ซึ่งจีนให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะทุเรียน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ  โดยกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจติดตามล้งรับซื้อทุเรียนอ่อนเพื่อดำเนินการจับกุมล้งที่กระทำความผิดมาอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินการเข้มงวดในมาตรการต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่ดี ต้องป้องปรามไว้ก่อน เจ้าของสวนเองต้องมีความรับผิดชอบ อีกทั้งได้รับรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง  ว่าจีนชื่นชมประเทศไทยที่ได้ดำเนินการในเรื่องของ GAP Plus และ GMP Plus ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดจันทบุรี

 

มนัญญา ลุยจับทุเรียนอ่อนจันทบุรี สร้างความเชื่อมั่นตลาดจีน

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการมีความซื่อสัตย์ เข้มงวดในเรื่องของมาตรฐานในการกำหนดวันตัดทุเรียน และการป้องกันในเรื่องมาตรการโควิด-19 และขอวอนผู้ประกอบการอย่าทำลายโครงสร้างของการส่งออกทุเรียน จะทำให้ทุเรียนเกิดความล่มสลายในที่สุด

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้เข้าตรวจติดตามล้งรับซื้อทุเรียน และพบว่า มีทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีกำหนดให้ตัดได้ในวันที่ 25 เม.ย.  2565 ปรากฏว่า พบทุเรียนอ่อนจากทั้งหมด 17% ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในการส่งออกซึ่งมีความผิด เกษตรกรอาจจะโดนเพิกถอนใบ GAP และล้ง จะถูกยกเลิกอนุญาตในการส่งออก ( DOA)

 ทั้งนี้ ภายหลังจากการตรวจสอบได้ยึดทุเรียนอ่อนทั้งหมด ส่ง สภ.ขลุง จ.จันทบุรี ดำเนินคดี เมื่อวันที่ 30 มี.ค.  2565 ที่ผ่านมา ภายใต้การอำนวยการของนายณัฏฐพงษ์ พัฒนรัฐ นายอำเภอขลุง ได้นำกำลังชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ อ.ขลุง ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6  สำนักงานเกษตรอ.ขลุง ฝ่ายปกครองอำเภอขลุง ตำรวจภูธรขลุง เข้าตรวจสอบล้งรับซื้อทุเรียน อ.ขลุง จ.จันทบุรี

 โดยเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองทั้งหมด ตัดมาจากสวนทุเรียนในเขตจังหวัดตราด มีการตรวจพบตัวอย่างทุเรียน 7 ตัวอย่าง พบว่าผ่านเกณฑ์ 2 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่จึงให้ลูกจ้างของล้งฯ คัดทุเรียนในส่วนที่ผ่านเกณฑ์ออกไป

ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 73 ลูก น้ำหนักรวม 200.5 กิโลกรัม จากทั้งหมด 1,152 กิโลกรัม คิดเป็น ร้อยละ 17% ที่อ่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยึดออกมาเพื่อนำไปเป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญา คือ มาตรา 271 และ พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคกับเจ้าของล้ง ต่อไป

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความเข้มงวดของประเทศจีนในด้านสุขอนามัยพืชและการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาตรฐาน GAP Plus และ GMP Plus เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดสินค้าผลไม้ไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยกระดับด่านตรวจพืช เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ตรวจปิดตู้และจะต้องยกระดับมาตรฐานการทำงานให้มีความสามารถในการตรวจสอบศัตรูพืช และสารพิษตกค้าง

รวมถึงการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และจะเร่งดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกที่กำลังจะมีผลผลิตมาก โดยเฉพาะทุเรียน ด้วยการวางแผนการส่งเสริมการบริโภคภายในทั้งระบบ และหาตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ พร้อมทั้งการแปรรูป  เพิ่มการขนส่งสินค้าตรง ไม่ผ่านประเทศที่ 3 ด้วยทางเรือ และอากาศเพิ่มเติม

รวมทั้ง การเจรจาในระดับต่าง ๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เป็นระบบ ที่สำคัญได้เน้นย้ำผู้ประกอบการเอกชน และเกษตรกร ต้องเข้มงวดและปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางของจีนอย่างเข้มงวด จริงจังในการควบคุมแมลงศัตรูพืช สารตกค้าง และการควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ปนเปื้อนไปกับสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรไทยให้กับประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2565 คาดการณ์สถานการณ์การผลิตไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปี 2565 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และเงาะ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นคาดการณ์ว่าปี 2565 ทุเรียน จะมีผลผลิตปริมาณ 744,549 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 169,007 ตัน คิดเป็น 29.36 % โดยผลผลิตทุเรียนจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เดือนก.พ.- ส.ค. นี้ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก ที่สุดในเดือนพ.ค.  จำนวน 357,223 ตัน มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้นคาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีผลผลิตปริมาณ 210,864 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564จำนวน  104,068 ตัน คิดเป็น 97.44%

โดยผลผลิตมังคุดจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เดือนมี.ค.- ก.ค.  ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพ.ค.จำนวน 112,762 ตัน ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี คาดว่า ปี 2565 จะมีผลผลิตทุเรียน ปริมาณ 508,876 ตัน โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพ.ค. จำนวน 240,902 ตัน

และจะมีผลผลิตมังคุด ปริมาณ 145,079 ตัน โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพ.ค. จำนวน 80,069 ตันจำนวน 104,068 ตัน คิดเป็น 97.44 % โดยผลผลิตมังคุดจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เดือนมี.ค.- ก.ค.  ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพ.ค.จำนวน 112,762 ตัน ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี คาดว่า ปี 2565 จะมีผลผลิตทุเรียน ปริมาณ 508,876 ตัน