จีดีพีเกษตรไทยยังอ่อนไหว ห่วงปัจจัยสงครามยืดเยื้อ

จีดีพีเกษตรไทยยังอ่อนไหว   ห่วงปัจจัยสงครามยืดเยื้อ

“เสบียงในภาวะสงคราม”หลายประเทศคำนึงถึง “ประเทศไทย”ในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักของโลก จะบริหารจัดการอย่างไรกับภาวะนี้ ซึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีพี)ไตรมาส 1 ปี 2565 (ม.ค.- มี.ค.) ขยายตัว 4.4% มีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องปลายปีที่แล้ว

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จีดีพีเกษตรทั้งปี 2565 ยังคาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2- 3% เมื่อเทียบกับ ปี 2564 จากทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

จีดีพีเกษตรไทยยังอ่อนไหว   ห่วงปัจจัยสงครามยืดเยื้อ

 อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จากภาวะฝนทิ้งช่วงและความแปรปรวนของสภาพอากาศในบางพื้นที่ แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งในด้านราคาปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ฉันทานนท์ กล่าวว่า แม้จีดีพีเกษตรจะขยายตัว แต่ในภาคหนี้สินครัวเรือนของเกษตรกรก็ขยายมากขึ้นเช่นกัน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด- 19 ทำให้รายได้ลดลง 

ในปีนี้วิกฤติระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้น เพื่อลดภาระดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ จะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาในระยะต่อไป เช่นโครงการปุ๋ยเคมีราคาถูก การหารือกับผู้นำเข้า เจรจาแหล่งนำเข้าปุ๋ย ทั้งซาอุ มาเลเซีย จีน เป็นต้น

“แม้หนี้สินเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายบางส่วนลดลงเช่นกัน เมื่อหักกำไรสุทธิ เพื่อดูรายได้สุทธิแล้ว รายได้ เกษตรกรยังอยู่ในแนวปกติ ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจการเกษตรของไทย ในกรณีรัสเซีย สศก. ประเมินว่า เป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้า เช่น ข้าว ยางพารา อาหารแปรรูป แต่ไทยต้องคำนึงถึงการแสดงท่าทีของประเทศในสถานการณ์สงครามให้เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยแสดงจุดยืนที่เป็นกลางมาโดยตลอด"

ส่วนกรณียูเครน ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจากยูเครนในระดับสูง อาทิ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน เมล็ดฝ้าย หรือเมล็ดดอกคำฝอย และบักก์วีต ข้าวฟ่างจึงต้องเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ราคาวัตถุดิบเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือไม่สามารถนำเข้าจากยูเครนได้

 

จีดีพีเกษตรไทยยังอ่อนไหว   ห่วงปัจจัยสงครามยืดเยื้อ

“เศรษฐกิจการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบทางตรงจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี วัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิตหลักในการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น"

ด้านผลกำลังซื้อก็พบว่าจะลดลงมาก รวมถึง ตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อาจทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนเช่นกัน

ดังนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความขัดแย้งในครั้งนี้จะบานปลายเพียงใด นานาประเทศจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซียอีกหรือไม่ โดยเฉพาะการโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบการเงินโลก ซึ่งจะต้องจับตามองร่วมกันต่อไป

 

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ  นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย  กล่าวว่า  การใช้ปุ๋ยเคมีมีความจำเป็นต่อการเพาะปลูกในพืชทุกชนิด เพราะปุ๋ยไม่เพียงแต่ทำให้พืชเจริญเติบโตเท่านั้นแต่ยังช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เช่นการทำนา 1ไร่ จะใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 1-2 กระสอบ โดยแบ่งให้ปุ๋ยในพื้นที่นาตามช่วงเริ่มปลูกหรือช่วง 20 วัน ช่วงเติบโต 35วัน และช่วงอุ้มท้อง 70 วัน จะได้ผลผลิต 120 ถัง แต่หากเกษตรกรลดการให้ปุ๋ยผลผลิตจะได้เพียง 70-80 ถังต่อไร่เท่านั้น ถือว่าไม่คุ้มทุน

จีดีพีเกษตรไทยยังอ่อนไหว   ห่วงปัจจัยสงครามยืดเยื้อ

 

 อย่างไรก็ตาม ราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยแล้วจะทำให้มีต้นทุนการทำนาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 บาทต่อไร่ จากเดิมที่มีต้นทุน6,000-6,500 บาท ดังนั้นเกษตรกรต้องบริหารจัดการการเพาะปลูกเอง ด้วยวิธีการลดต้นทุนการผลิตในส่วนที่ทำได้เอง เช่น การเตรียมแปลงที่มีค่าจ้างสูงถึง 600 บาทต่อไร่ สามารถเจรจาลดค่าเช่าที่มีอัตราสูงถึง1,500 บาทต่อไร่ ค่าจ้างแรงงานในการใส่ปุ๋ย ค่าชีวภัณฑ์ในการคุมเลน คุมวัชพืช ฮอร์โมน ที่มีค่าใช่จ่ายรวมประมาณ 1,300 บาท เป็นต้น

"สิ่งที่น่ากลัวกว่าปุ๋ยแพงคือ การไม่มีปุ๋ย จะเกิดการแย่งซื้อ ในขณะที่ต้องระวังปุ๋ยไม่มีคุณภาพ หรือปุ๋ยปลอมเกิดขึ้น กรณีจะหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ไม่ได้ทำเอง จะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เพราะราคาแพงกว่าถึง2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมีอีกทั้งต้องใช้ปริมาณมาก และเสี่ยงที่ไม่ได้ธาตุอาหารที่ตรงกับความต้องการของพืช"

ทั้งนี้ จากข้อมูลสศก.ที่ระบุว่า จีดีพีเกษตรไตรมาส 1ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายงานนั้นจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรต้องปรับตัวรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับรายได้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการบริหารจัดการการเพาะปลูกในปีนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง 

สำหรับจีดีพีเกษตรรายสาขาพบว่าสาขาพืช ขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน สาขาปศุสัตว์ หดตัว 2% เนื่องจากการผลิตสุกรลดลงจากโรคระบาด สาขาประมง ขยายตัว 2.5% เป็นผลมาจากประมงทะเลทำได้มาก เนื่องจากระดับราคาที่จูงใจ  สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.4% โดยกิจกรรมการเตรียมดินเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูกพืช