ตลท.ตั้งเป้าดัน Settrade Streaming ขึ้นแท่น "ซูเปอร์แอพ" เชื่อมต่อทุกการลงทุน

ตลท.ตั้งเป้าดัน Settrade Streaming ขึ้นแท่น "ซูเปอร์แอพ" เชื่อมต่อทุกการลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังดัน Settrade Streaming เป็นซูเปอร์แอพเชื่อมโยงการลงทุนทุกสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำเป้าหมายเปิดบริการ TDX ไตรมาส 3/65 เชื่อมต่อผู้ให้บริการ-ผู้ลงทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer” เดิมพันเปลี่ยนอนาคต ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าหมายปั้นแอพพลิเคชั่น “เซ็ทเทรด” (Settrade Streaming) เป็นซูเปอร์แอพที่สามารถเชื่อมต่อการลงทุนในทุกสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากปัจจุบันที่ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน กองทุนรวมดัชนี (ETF) ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX)

นอกจากนี้ ย้ำว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 ตลท.เตรียมเปิดตัวศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) แพลตฟอร์มการลงทุนแบบเปิด (Open Platform) ที่จะเชื่อมโยงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการและผู้ลงทุน โดยเน้นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) และโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token)

ทั้งนี้ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จากแรงหนุนที่ผู้ลงทุนเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทผู้ระดมทุนต่างก็ให้ความสนใจเข้ามาระดมทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ราว 1.79 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 60 ล้านล้านบาท) และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุดต่อวัน 7.49 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.5 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองภาพอนาคตว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Market) กับตลาดสินทรัพย์การลงทุนรูปแบบเดิม (Traditional Asset Market) จะยังเติบโตควบคู่กันไปในอนาคต เพราะตลาดทั้ง 2 มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน 

นอกจากนี้ นักลงทุนและผู้ระดมทุน ต่างก็มีจุดใช้ตลาดทุนที่ไม่เหมือนกัน ทั้งในแง่ความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละรายที่แตกต่างกัน รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์และตราสารที่เหมาะสมกับการระดมทุนของธุรกิจ เช่น หากบริษัทหนึ่งที่ประกอบธุรกิจมานาน ต้องการระดมเงินทุนหลักแสนล้าน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งในแง่จำนวนผู้ลงทุนที่อาจจะต้องใช้มากรายเพื่อให้ได้เงินทุนครบตามจำนวนที่ต้องการ รวมถึงความเข้าใจของนักลงทุน

ในทางกลับกัน หากบริษัทดังกล่าวระดมทุนผ่านการออกหุ้นใหม่ (IPO) เพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันที่มีความเข้าใจในธุรกิจ โดยขายผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Underwriter) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ และมีหลักการควบคุมดูแลที่ชัดเจน อาจมีความเหมาะสมกว่า

แต่สำหรับบริษัทใหม่ เช่น บริษัทสตาร์อัพที่มีเพิ่งประกอบธุรกิจได้ไม่นาน แต่มีไอเดียในการทำธุรกิจและต้องการระดมเงินทุนปริมาณไม่มาก ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีความเหมาะสมมากกว่า เพราะผู้ลงทุนในตลาดเป็นกลุ่มนักลงทุนที่แสวงหาความเสี่ยง รวมถึงสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าจากการเข้าถึงผู้ลงทุนมากราย