บลจ. พรินซิเพิล จับจังหวะออกทริกเกอร์ฟันด์เวียดนาม IPO 28 มี.ค. - 5 เม.ย.นี้ 

บลจ. พรินซิเพิล จับจังหวะออกทริกเกอร์ฟันด์เวียดนาม IPO 28 มี.ค. - 5 เม.ย.นี้ 

บลจ. พรินซิเพิล มองเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตแข็งแกร่ง หนุนโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม เพื่อสร้างผลตอบแทนในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน เตรียมเสนอขาย IPO กองทุนเปิด “พรินซิเพิล เวียดนาม ทริกเกอร์ 7M1” (PRINCIPAL VNTG7M1) วันที่ 28 มีนาคม - 5 เมษายน นี้

นายศุภกร ตุลยธัญ  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า ในสภาวะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูง ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่มีความน่าสนใจต่อการลงทุน ด้วยศักยภาพของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดย IMF ได้คาดการณ์ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจของเวียดนามจะกลับมาเติบโตได้ที่ระดับ 6.63% สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้เศรษฐกิจเวียดนามยังมีความแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคท่ามกลางปัจจัยลบที่กระทบกับตลาดหุ้นหลายประเทศ โดยที่ผ่านมาเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นบวกได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 มีความรุนแรง

 ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ได้แก่ การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลาง ซึ่งสะท้อนออกมายังการบริโภคภายในประเทศที่เร่งตัวขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ที่มีสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ต่อ GDP สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจากสิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เวียดนามมีอยู่ เช่น CPTPP, RCEP และ EVFTA ที่ทำให้เวียดนามมีความน่าสนใจมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ

 อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านดอง หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ธนาคารกลางเวียดนามยังมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4% ตลอดทั้งปีนี้

นอกเหนือจากนั้นประเทศเวียดนามได้ประกาศยกเลิกการใช้มาตรการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศเพียงแค่แสดงผลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นลบ โดยคาดว่าภาคท่องเที่ยวที่มีการทำรายได้ประมาณปีละ 32,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้าการระบาด จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม

ในส่วนของตลาดหุ้นเวียดนามมองว่ายังคงมีความน่าสนใจอยู่มาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาอื่น ในช่วงปี 2563 -2564 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเวียดนามสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญจากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อย และคาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะกลับมาให้ความสนใจกับตลาดเวียดนามเนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่โดดเด่น ซึ่งหากได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติก็จะยิ่งทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีแนวโน้มที่ดี

ในปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามมีระดับ valuation ที่ไม่แพงและมีอัตราการเติบโตของกำไรที่โดดเด่น โดยจากการประเมิน valuation แบบ Forward P/E อยู่ที่ประมาณ 14 เท่า และ EPS Growth หรืออัตรากำไรต่อหุ้นในปี 2565 ในระดับมากกว่า 20% จึงทำให้หุ้นเวียดนามมีความน่าสนใจอย่างมากในการนำเสนอกองทุนในรูปแบบของทริกเกอร์ฟันด์

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็น 1) ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ Fund Flows จากนักลงทุนต่างชาติ 2) สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน 3) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่อาจกดดันให้ธนาคารกลางเวียดนามต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ไว้ และ 4) แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวม

นายศุภกร กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ดี และจากความเชี่ยวชาญในการบริหารกองทุนของเรา พรินซิเพิลจึงเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ล่าสุดเตรียมเปิดตัว “กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม ทริกเกอร์ 7M1” หรือ Principal Vietnam Trigger 7M1 Fund (PRINCIPAL VNTG7M1) ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 28 มีนาคม - 5 เมษายน 2565 สั่งซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท

โดยเป็นกองทุนผสมที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีธุรกิจหลักในเวียดนาม หรือได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม และมีรูปแบบเป็น Trigger Fund ที่ไม่กำหนดอายุกองทุน แต่จะมีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไข ดังนี้

ครั้งที่ 1 เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ตํ่ากว่า 10.35 บาท และทรัพย์สินของกองทุนที่จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติจะต้องเป็นเงินสดหรือตราสารสภาพคล่องในสกุลบาทเพียงพอที่จะชำระค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติในส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 3.50 ของมูลค่าที่ตราไว้ (10 บาท) (หรือเท่ากับ 0.35 บาท/หน่วย) โดยบริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติเมื่อกองทุนมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่า 10.35 บาท เพียงครั้งเดียวนับตั้งแต่วันจดทะเบียนกองทุน

ครั้งที่ 2 เมื่อเกิดเหตุตามเงื่อนไขการเลิกกองทุนคือ เมื่อกองทุนมีมูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.75 บาท และบริษัทจัดการสามารถรวบรวมเงินสดหรือตราสารสภาพคล่องในสกุลบาทได้เพียงพอเพื่อรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนตามที่ระบุในโครงการ อย่างไรก็ตาม อัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการเลิกกองทุนเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขการเลิกกองทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าต่อหน่วยลงทุนอาจมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าหน่วยลงทุนที่กำหนดตามเงื่อนไขการเลิกโครงการ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลา 7 เดือนแรกนับตั้งแต่วันจดทะเบียนกองทุน และกรณีที่ไม่เกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขในระยะเวลา 7 เดือน บริษัทจัดการจะเปิดรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอีกครั้งในวันทำการแรกถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลา

กองทุนเปิด PRINCIPAL VNTG7M1 มีแนวทางบริหารพอร์ตการลงทุนแบบเชิงรุก (Active Management) โดยทีมบริหารกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยความร่วมมือกับทีม Principal ในระดับภูมิภาค เพื่อคัดเลือกหุ้นที่มีศักยภาพดี สามารถสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ผ่านการพิสูจน์ผลงานจากทีมผู้จัดการกองทุนที่บริหารกองทุนเปิด PRINCIPAL VNEQ ซึ่งมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีที่ 52.62% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่โดดเด่นอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนามในประเทศไทย (Source: Morningstar ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564)

กองทุนดังกล่าวแบ่งกลยุทธ์การลงทุนออกเป็น การสร้างผลตอบแทนแบบ Passive ETF และการบริหารจัดการพอร์ตแบบ Active Management โดยสัดส่วนประมาณ 50% จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน ETF ตลาดหุ้นเวียดนาม เช่น กองทุน VN30 ETF ที่เป็นการลงทุนในหุ้นเวียดนามชั้นนำ 30 บริษัทแรกที่มีขนาดใหญ่ และสภาพคล่องดีในตลาดหลักทรัพย์ โฮจิมินห์ ในขณะที่อีกประมาณ 50% จะเน้นลงทุนในหุ้นรายตัวด้วยการคัดเลือกแบบ High Conviction จากบริษัทที่มีพื้นฐานดี กำไรเติบโต (Fundamentals) มีแนวโน้มของราคาที่ดี (Momentum) และมูลค่าของหุ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ (Valuation) ยกตัวอย่างเช่น Masan Group Corporation บริษัท holding company ที่มีชื่อเสียงในเวียดนาม และ Vinhomes Joint Stock Company ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในเวียดนาม เป็นต้น

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์