BANKING SECTOR - ราคาหุ้นกับการเปลี่ยน credit rating

BANKING SECTOR - ราคาหุ้นกับการเปลี่ยน credit rating

เราได้ศึกษาพฤติกรรมราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารช่วงหลังการเปลี่ยน credit rating ตั้งแต่ปี 2010 และพบว่าราคาหุ้นมักมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับการปรับ credit rating หลังการปรับราว 3 เดือน

เราคาดว่าราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารจะผันผวนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า เราคงมุมมอง เป็นกลาง ต่อกลุ่มธนาคาร เราแนะนำรอการปรับฐานของราคาหุ้นก่อนเพื่อเข้าลงทุน หรือใช้กลยุทธ์ในเชิงเทรดดิ้งระยะสั้นคือ ลงซื้อ/ขึ้นขาย จะเหมาะสมกว่าที่จะมองซื้อถือยาวจากจุดนี้

 

S&P ปรับลด rating ธนาคารเนื่องจากความเสี่ยงเชิงระบบสูงขึ้น

บริษัทจัดทำ credit rating S&P ทำการปรับลด rating ของธนาคาร 4 แห่งในไทย ได้แก่ SCB และ KBANK จาก BBB+ เป็น BBB และ KTB และ TTB จาก BBB เป็น BBB- และคง rating ของ BBL และ BAY ไว้ที่ BBB+ โดย S&P มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเชิงระบบสูงขึ้นจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง, ความล่าช้าในการบริหารจัดการหนี้ในมาตรการบรรเทาผลกระทบ, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง และผลกระทบจากรัสเซีย - ยูเครน โดยปกติการปรับลด credit rating อาจทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทสูงขึ้นโดยเฉพาะในการออกตราสารนี้ แต่กรณีนี้อาจไม่ใช่สำหรับธนาคารที่ระดมเงินทุนจากเงินฝาก อย่างไรก็ดี ในแง่ราคาหุ้น การปรับ rating อาจทำให้เกิดแรงขายในหุ้นกลุ่มธนาคารจากแนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจที่อ่อนแอลง

 

 

 

ผลกระทบจะชัดเจนขึ้นหลังการปรับ credit rating 3 เดือน

เราได้ศึกษาพฤติกรรมของราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารหลังการปรับ credit rating ตั้งแต่ 2010 โดยเราพบว่ามีการปรับ credit rating ทั้งหมด 13 ครั้ง จากบริษัท credit rating ชั้นนำ 3 แห่ง แบ่งเป็นปรับลด 6 ครั้ง และ ปรับขึ้น 7 ครั้ง โดยเฉลี่ยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าราคาหุ้นอาจจะไม่ได้ตอบสนองเชิงลบหลังการปรับลด credit rating 1-2 เดือน แต่มักจะกระทบ 3-6 เดือนหลังการปรับ ในลักษณะเดียวกันราคาหุ้นมักตอบสนองเชิงบวกหลังการปรับ credit rating ขึ้นประมาณ 3-6 เดือน ทั้งนี้หลังการปรับ rating 3 เดือน เราประเมินคาดการณ์ผลตอบแทนของราคาหุ้นหลังการลด rating อยู่ที่ -8% และการเพิ่ม rating ที่ +7%

 

อัพไซด์ valuation ยังไม่คุ้มเทียบความเสี่ยงมหภาคที่เพิ่มขึ้น

การปรับลด credit rating ของ S&P และแนวโน้มราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่อาจปรับตัวลงตามพฤติกรรมจากข้อมูลในอดีต สอดคล้องไปกับคาดการณ์ของเราว่ากลุ่มธนาคารไม่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีใน 1H22 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปรับขึ้นแรงของราคาหุ้นตั้งแต่ช่วง 4Q21 จนถึงต้นปี 2022 กอปรกับเราเห็นความเสี่ยงเชิงมหภาคที่ทำให้มีดาวน์ไซด์ของ GDP เราจะคงมุมมอง เป็นกลาง ต่อกลุ่มธนาคาร โดยเราแนะนำรอการปรับฐานของราคาหุ้นก่อนเพื่อให้มีอัพไซด์ที่มากพอสำหรับการซื้อลงทุน หรืออาจใช้กลยุทธ์เทรดดิ้งระยะสั้นคือ ลงซื้อ / ขึ้นขาย จะเหมาะสมกว่า