“เอสเอสไอ” ชี้อุตฯ เหล็กปี 65 ผจญปมสงครามดันต้นทุนพุ่ง

“เอสเอสไอ” ชี้อุตฯ เหล็กปี 65 ผจญปมสงครามดันต้นทุนพุ่ง

เอสเอสไอ คาดปี 2565 ไทยใช้เหล็กเพิ่ม 5% ผวาปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำอุปทานหาย ขณะต้นทุนการผลิตพุ่งตามน้ำมัน ยันชะลอขยับราคาห่วงลูกค้ากระทบ แนะรัฐเร่งแผนเหล็ก 4.0 รองรับดีมานด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เปิดเผยว่า ปี 2565 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะปรับตัวขึ้นเป็น 19.6 ล้านตันเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ

ส่วนกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กโลกและอุตสาหกรรมเหล็กไทยเนื่องจากรัสเซียและยูเครน มีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กไปทั่วโลกรวมกันประมาณ 58 ล้านตัน โดยรัสเซียมีสัดส่วน 8% ของปริมาณการส่งออกเหล็กของทั้งโลก ขณะที่ยูเครนมีสัดส่วน 4% 

ดังนั้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อ จะส่งผลให้อุปทานของผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนนี้ขาดแคลน จนผลักดันให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้แต่ละภูมิภาคจะได้รับผลกระทบเร็วช้าต่างกัน โดยในยุโรปราคาเหล็กปรับขึ้นแล้วถึง 20% ทำให้ผู้ผลิตในภูมิภาคอื่นเลือกส่งเหล็กไปขายในตลาดยุโรปที่ได้ราคาดีกว่า เป็นผลกระทบแบบโดมิโนต่อตลาดในภูมิภาคเอเชียที่อาจเกิดภาวะขาดแคลนเหล็ก

อย่างไรก็ตาม บริษัทพยายามชะลอการขึ้นราคาให้ช้าที่สุดตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับสินค้าโดยไม่เกิดความขาดแคลนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยมีการสั่งซื้อวัตถุดิบจากแหล่งใกล้เคียงมาทดแทน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งใช้วัตถุดิบที่เป็นต้นทุนเดิมซึ่งมีไม่มากนักเนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบด้านราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตและโลจิสติกส์ คิดเป็น 10-20% ของราคาเหล็ก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ไม่ได้ส่งผลมากนัก ซึ่งราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลในไตรมาส 2 และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อบานปลายจะส่งผลไปถึงในไตรมาส 3

นายนาวา กล่าวต่อว่า เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืน ภาครัฐควรเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ซึ่งเป็นแผนที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยมีสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา ได้ยื่นต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และได้มีการนำเสนอแผนต่อคณะทำงานศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืนเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

“3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1. สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ 2. ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็ก 3. พัฒนาตลาด มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้มีโรงถลุงเหล็กเกรดคุณภาพสูงลดการพึ่งพึงการนำเข้าจากต่างประเทศ ป้อนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าเครื่องมือแพทย์ และอากาศยาน”

นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งด่วนที่ควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1. การควบคุมการตั้งโรงงานสินค้าเหล็กบางประเภท ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตล้นเหลือ (Overcapacity) และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลได้ควบคุมห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต

2. การขยายผลการส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐเอกชน (PPP) ด้วย นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากโครงการ PPP มีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก โดยแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 (แผนร่วมลงทุน) มีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 110 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้ใช้สินค้าในประเทศได้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างมหาศาล

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ในปี 2564 ความต้องการใช้สินค้าเหล็กของไทยอยู่ที่ 18.64 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.8% จากปีก่อน โดยการนำเข้าสินค้าเหล็กขยายตัวถึง 19.1% ในขณะที่มีการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศเพิ่มเพียง 5.6% และอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานเหล็กในประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากที่ 32.5%

นายนาวา กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2564 ว่า มีปริมาณขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายที่ 1.39 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15%

ในปี 2564 - 2565 บริษัทมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 20 โครงการ อาทิ โครงการเหล็กสำหรับท่อโครงสร้างแข็งแรงสูง โครงการเหล็กโครงสร้างสำหรับเชื่อมประกอบต้านทางการกัดกร่อน (Weathering Steel) โครงการพัฒนาเหล็กแรงดึงสูง (High Tensile Strength) เพื่อรองรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต้องการใช้เหล็กน้ำหนักเบาและแข็งแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย