Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 14 March 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 14 March 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับสูง หลังสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 102-112 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 105-115 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 14 March 2022

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 -18 มี.ค. 65)

ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับสูง หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรทางด้านพลังงานต่อรัสเซีย ขณะที่สหราชอาณาจักรจะทยอยลดการพึ่งพาและยุติการนำเข้าน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียภายในปี 2565 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และชาติสมาชิก IEA มีแผนจะปล่อยน้ำมันออกจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้หลายฝ่ายคาดว่าการปล่อยน้ำมันดังกล่าวมีแนวโน้มไม่สามารถชดเชยการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียได้ทั้งหมด ขณะที่กลุ่มชาติสมาชิกสหภาพยุโรปมีแนวโน้มไม่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางด้านพลังงานต่อรัสเซียเหมือนกับสหรัฐฯ และ สหราชอาณาจักร เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางด้านพลังงานของกลุ่มสมาชิก นอกจากนี้ตลาดจับตาสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด โดยตลาดคาดเฟดมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยให้เร็วกว่าแผนเดิมจากปัจจัยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565
 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-  สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าทางพลังงานจากรัสเซียรวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่สหราชอาณาจักรประกาศที่จะทยอยลดการพึ่งพาและยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในปี 2565 ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่ออุปทานว่าจะมีแนวโน้มตึงตัว นอกจากนี้นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียมองว่าการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะลุ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็นเพียง 1-3% ของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2564

-  ชาติสมาชิกสำนักงานพลังงานสากล (IEA) รวมถึงสหรัฐฯ ประกาศพร้อมปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มเติมที่ 60 ล้านบาร์เรล เพื่อพยายามลดราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม JP Morgan ประเมินว่า ในกรณีหากมีการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียทั้งหมด การปล่อยน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ 60 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่สามารถชดเชยปริมาณการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 185 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตลาดน้ำมันดิบที่ตึงตัว และส่งผลให้ GDP โลกอาจเติบโตลดลง -0.4% จากการคาดการณ์

- ตลาดคาดการณ์ว่าชาติสมาชิกสหภาพยุโรปมีแนวโน้มไม่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานต่อรัสเซียตามสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดนายกเนเธอร์แลนด์จะมีการหารือประเด็นดังกล่าวกับผู้นำฝรั่งเศส โดยเนเธอร์แลนด์ไม่พร้อมที่จะหยุดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในทันที ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายุโรปมีการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างสูง ถ้าหากมีการคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางพลังงานได้
 

- การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความคืบหน้ามากขึ้นหลังประธานาธิบดียูเครนมีการยุติความพยายามที่จะเข้าเป็นสมาชิก NATO ตามคำเรียกร้องของรัสเซีย และแสดงเจตนารมณ์พร้อมประนีประนอมเกี่ยวกับสถานะของสองเขตตะวันออกที่แยกตัวออกจากยูเครนแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการยุติความรุนแรงจากการเจรจาครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 

- บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้อีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบในแหล่ง Sharara และ El Feel มีการหยุดการผลิตชั่วคราวเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาทางสภาพอากาศ โดยการกลับมาผลิตน้ำมันจากสองแหล่งดังกล่าวจะส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบกลับสู่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันอีกครั้ง

- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในยุโรปได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว หลัง Eurostat รายงาน GDP กลุ่มประเทศยูโรโซน 19 ชาติ ในไตรมาสที่ 4/64 ขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า และมีมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องหลังหลายประเทศในภูมิภาคประกาศยุติมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมด

- นักลงทุนจับตาสัญญาณเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 15-16 มี.ค. หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 สู่ระดับมากกว่า 40 ปี ในเดือน ก.พ.65 ที่ 7.9% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยตลาดคาดเฟดมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้น กดดันการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ

- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุม FOMC มี.ค.65 การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ตัวเลขดัชนียอดค้าปลีกสหรัฐฯ และแคนาดา ก.พ.65

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 – 11 มี.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 6.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 109.33 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 112.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 110.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงหลังทำสถิติสูงสุดกว่า 14 ปี ที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันเพราะชาติสมาชิกสำนักงานพลังงานสากล (IEA) รวมถึงสหรัฐฯ ประกาศพร้อมที่จะระบายน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์สู่ตลาดเพิ่มเติมที่ 60 ล้านบาร์เรล เนื่องจากพยายามผ่อนคลายราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง