สำนักวิจัยเศรษฐกิจ หั่นจีดีพีปี 65 ดิ่ง เซ่นสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ

สำนักวิจัยเศรษฐกิจ หั่นจีดีพีปี 65 ดิ่ง เซ่นสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ

สำนักวิจัยเศรษฐกิจ แห่ปรับลด“จีดีพี”ปี 65 หลังสงครามรัสเซีย ยูเครนเดือด ดันราคาน้ำมัน- เงินเฟ้อ พุ่ง กสิกรไทย หั่นเหลือโต 2-2.8% จากเดิม2.8-3.8% “กรุงศรี”คาดแซงก์ชั่นรัสเซียลากยาวถึงกลางปี 66 กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก “เคเคพี” หวั่น น้ำมันพุ่งแตะ 200ดอลล์ ฉุดบริโภคดิ่ง

       สงคราม รัสเซีย ยูเครน ร้อนระอุต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพุ่ง ซึ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ  โดยล่าสุด สำนักวิจัยเศรษฐกิจ ชั้นแนวหน้าของไทย ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ถ้วนหน้า สอดรับผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ส่งออก ท่องเที่ยว ในระยะข้างหน้าให้มีโอกาสลดลง 

       นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ผลกระทบกรณีสงครามรัสเซียกับยูเครน มองว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวลดลง โดยล่าสุดวิจัยกรุงศรีฯ มีการปรับลดประมาณการ จีดีพี เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.7% โดยหลักๆ มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น  การส่งออก และ การท่องเที่ยวที่ลดลง จากสงครามรัสเซียที่ยืดเยื้อ

สำนักวิจัยเศรษฐกิจ หั่นจีดีพีปี 65 ดิ่ง เซ่นสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ          

ทั้งนี้แม้มองสงครามรัสเซียจะจบได้ภายในครึ่งปีแรก แต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะยังมีต่อเนื่องต่อปีอีก 1ปี ถึงกลางปี 2566 เนื่องจากมองว่า สงครามที่จะจบลง ไม่ได้มาจากการเจรจา แต่มาจากการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ต้องมีผู้ชนะ สงครามจึงจะจบได้  ดังนั้น หากรัสเซียชนะ สามารถยึดครองยูเครนได้  รัสเซียจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก

       โดยส่งผลให้ ประเทศต่างๆมีการแซงก์ชั่นรัสเซียโดยการหยุดการซื้อขายกับรัสเซีย แปลว่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจโลกจะหายไป การผลิตของโลกลดลง ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของทั่วโลกโตช้ากว่าที่ควรเป็น ซึ่งจะโยงมาสู่เศรษฐกิจไทยให้ได้รับผลกระทบด้วย จากกลไกการค้าโลกที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก
 

หวั่นรัสเซียปิดก๊อกน้ำมันดันราคาพุ่ง200ดอลล์ 

       นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ล่าสุด ฝ่ายวิจัยปรับจีดีพีไทย เหลือ 3.2% จากเดิมคาด 3.9%

      โดยมาจาก 2 ประเด็นหลัก

      ประเด็นแรกมาจาก โควิด-19 ที่ลากยาวกว่าคาด เดิมคาดจบในไตรมาสแรกปีนี้  แต่จะลากยาว คาดจบในไตรมาส 2ปีนี้ ซึ่งผลกระทบต่อการบริโภคการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้ลดลง

      ส่วนประเด็นที่สอง คือผลกระทบจากรัสเซียกับยูเครน โดยมองผลกระทบตาม ซีนาริโอ กรณีพื้นฐาน คาดว่า สถานการณ์รัสเซียยูเครน จะยืดเยื้อ

       แต่แซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจะไม่หายไป และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากกรณีที่สหรัฐ แบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ซัพพลายเชนที่ส่งออกน้ำมันไปทั่วโลกหายไป ซึ่งจะหนุนให้ราคาน้ำมันปีนี้ขึ้นไปพีคที่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเฉลี่ยทั้งปีที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมที่คาด 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้การบริโภคได้รับผลกระทบ ค่าครองชีพสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง

      ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้น ลามไปสู่ยุโรป ที่เป็นตลาดส่งออก และท่องเที่ยวหลักของไทย โดยไทยส่งออกไปยุโรป 8-9% ดังนั้นผลกระทบจากสงครามยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบมาสู่เศรษฐกิจไทย 4 ด้าน

      ทั้งการบริโภค การท่องเที่ยว การส่งออก และราคาน้ำมัน โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่คาดว่าจะลดเหลือ 5.1 ล้านคน จาก 5.8 ล้านคน

      กรณีผลกระทบรุนแรงกว่านั้น กรณีที่ซัพพลายเชนหายไปทั้งหมด จากการปิดก๊อกส่งออกน้ำมันของรัสเซีย และมีการแซงก์ชั่นอย่างหนัก ทำให้ราคาน้ำมันอาจขึ้นไปแตะระดับ 150-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ส่งผลให้ทั้งปีน้ำมันเฉลี่ยที่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  

      ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกชะลอตัว และมีโอกาสเห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศสูงขึ้น

       กรณีนี้ คาดว่าจีดีพีไทย อาจลดลงไปต่ำถึงระดับ 2.7% ขณะที่เงินเฟ้อขึ้นไปเป็นกว่า 5%

กสิกรไทยหั่นจีดีพีรูดแตะ 2%

      นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ระหว่างการปรับจีดีพีลดลง มาอยู่ในกรอบที่ 2-2.8% จากประมาณการเดิมที่ 2.8-3.8% เพราะ ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นผลกระทบรัสเซีย ยูเครน  ที่มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปรับลดลงแน่นอน

        ทั้งนี้แบ่งเป็น 2 ซีนาริโอด้วยกัน กรณี ฐาน  มองว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อเรล จากเดิมที่คาดไม่ถึง 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กรณีนี้จะทำให้จีดีพีลดลงเหลือ 2.8% แต่กรณี Worst case หากราคาน้ำมันปรับตัวเกิน 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จีดีพีจะหายไป 1%

         แต่หากเลวร้ายกว่านั้น กรอบล่างที่มองไว้ที่ 2% ก็อาจต้องปรับใหม่ในระยะถัดไปด้วย

        อย่างไรก็ตาม มองว่า แม้สงครามรัสเซียยูเครนครั้งนี้ จะสามารถเจรจาได้ แต่การคว่ำบาตรจากประเทศต่างๆไม่น่าจบ เพราะ สงครามในอดีตที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การคว่ำบาตรมีผลสัมฤทธิ์น้อย ที่จะทำให้ประเทศที่ถูกคว่ำบาตรเปลี่ยนการดำเนินการ ดังนั้นแม้สู้รบจบ แต่เชื่อว่าน้ำมันไม่มีโอกาสกลับไปแตะระดับที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแน่นอน

ซีไอเอ็มบีหวั่นน้ำมันพุ่งแตะ150ดอลลาร์

       นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์รัสเซีย ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน

      โดยเฉพาะหากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดไปแตะระดับที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากประมาณการเดิมที่มองไว้ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

       สำหรับปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อการบริโภคในประเทศให้ลดลงได้ โดยผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย มองว่าน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้จีดีพีหายไปราว 0.3%

      โดยยังไม่รวมช็อคอื่นๆที่มาจากซัพพลายเชนดิสรัปชั่น ผลกระทบจากท่องเที่ยวต่างๆ  ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทย ปรับตัวลดลงไปสู่ ประมาณการใหม่ที่ 3-3.4% ได้ จากประมาณการเดิมที่ 3.8%

       “รอบนี้เราไม่ได้ห่วงการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย แต่เราห่วงเงินเฟ้อ เพราะน้ำมันกระทบต่อการบริโภคโดยตรง ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงอาจทำให้น้ำมันยิ่งเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเห็นผลกระทบ หรือจีดีพีหลุด 3% ก็มีความเป็นไปได้ เพราะน้ำมันยิ่งแพง ยิ่งทำให้เงินรั่วออกนอกประเทศ จากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดทั้งปีนี้”

      ส่วนภาคท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวลง 3 ล้านคนหรือต่ำกว่านั้น จากเดิมที่คาด 5.1 ล้านคน  เพราะนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งจากรัสเซียหายไป และหากสถานการณ์ลามไปยุโรป นักท่องเที่ยวจะยิ่งหายไปค่อนข้างมาก

      สำหรับผลกระทบราคาน้ำมันนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการดูแลเฉพาะจุดไม่เหวี่ยงแห ไม่งั้นอาจบิดเบือนกลไกตลาด โดยอุดหนุนเฉพาะจุด ที่เกี่ยวกับการขนส่งสาธารณะ และการช่วยเหลือกลุ่มที่ขนส่งสินค้าเป็นหลัก เพื่อลดภาระลดลง

ทีทีบีหวั่นฉุดบริโภคในประเทศ-ดันหนี้พุ่ง

      ด้านนายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics)กล่าวว่า จากผลกระทบครั้งนี้ ทีทีบีมีการปรับลดจีดีพีอยู่ในกรอบราว 3-3.2% จากเดิมที่คาด 3.8%

      ปัจจัยหลักมาจากเงินเฟ้อ ที่เร่งตัวขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งฉุดกำลังซื้อในประเทศให้ลดลง จากรายจ่ายสูงขึ้นตามราคาสินค้าที่แพงขึ้น

      ในขณะที่รายได้ของคนเท่าเดิม ซึ่งอาจลามไปสู่ความสามารถในการชำระหนี้ให้ลดลงด้วย ทั้งนี้ประเมินเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ระดับ 5%

        ขณะที่การท่องเที่ยวจากต่างชาติ คาดการณ์ลดเหลือ 3.5ล้านคน จาก 5 ล้าน นอกจากนี้มีการปรับการบริโภคในประเทศลดเหลือ 2.7% จาก 4%

      นอกจากนี้มองว่า ยังมีผลกระทบมาสู่ ลงทุนของเอกชนให้ชะลอตัวด้วยจากความผันผวนในตลาดที่มีอยู่ระดับสูง ภายใต้ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการปรับการลงทุนเอกชนลดเหลือ 3% จากเดิม 4.5%

กรุงไทยหวั่นจีดีพีหลุด3%

       นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์รัสเซียยูเครน

       เบื้องต้น มองผลกระทบเป็น 3ซีนาริโอ หลัก โดยมองว่าหากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ และจบภายในเดือนนี้ โอกาสที่จะเห็นจีดีพีคงเดิมที่ 3.8% ได้

       กรณีถัดมาหากสถานการณ์ยืดเยื้อถึงกลางปี 2565 คาดว่า จะฉุดเศรษฐกิจไทยลงไปเหลือ ระดับ 3% บวกลบได้

        และกรณีร้ายแรงที่สุด หากสถานการณ์ยาวเกิน 6 เดือน คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจหลุดระดับ 3% ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการประกาศหยุดการผลิตชั่วคราว จากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูง

สแตนชาร์ดคงที่ 3.3%

      นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า  ขณะนี้ธนาคารยังคงประมาณการจีดีพีปีนี้ที่ 3.3% เนื่องจาก ระดับดังกล่าวถือว่าต่ำมากหากเทียบกับคาดการณ์ของศูนย์วิจัยอื่นก่อนหน้านี้ อีกทั้งปัจจุบันยังเต็มไปด้วยปัจจัยไม่แน่นอน

        ทั้งนี้แม้สถานการณ์ยูเครนรัสเซีย จะรุนแรงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามที่หาทางออกกัน ดังนั้นสถานการณ์วันนี้ไม่ได้มีด้านเดียว ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยมีการระมัดระวังในการมองภาพไปข้างหน้า เพราะสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน

       ขณะเดียวกันประเทศไทยพยายามในการเปิดประเทศมากขึ้น และอยู่ร่วมกับโควิดมากขึ้น โดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวอินเดีย เอเชียเข้ามา

      เหล่านี้อาจเข้ามาชดเชยผลกระทบจากรัสเซียยูเครนได้ และหนุนกิจกรรมในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้มากขึ้น ซี่งยังคงเป็นมุมมองบวก ที่ทำให้ฝ่ายวิจัย ยังคงประมาณการไว้ก่อน ก่อนจะปรับเมื่อสถานการณ์ต่างๆชัดเจนขึ้นอีกครั้ง