กพอ.ลุยต่อแผนดึงทุนเอเชีย แม้ปมรัสเซีย-ยูเครนยังระอุ

กพอ.ลุยต่อแผนดึงทุนเอเชีย แม้ปมรัสเซีย-ยูเครนยังระอุ

กพอ. ลุยดึงลงทุนต่อแม้ปัจจัยโควิด-ความขัดแย้งรัสเซียยูเครนยังระอุ ชี้ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยกเว้นราคาน้ำมัน ย้ำเป้าหมาย อีอีซีมุ่งเอเชีย จี้เร่งแก้ปมข้อตกลงการค้าน้อยทำเสี่ยงเสียโอกาสลงทุน 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ทิศทางการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่วางไว้ยังเดินต่อท่ามกลางสถานการณ์โควิดและภาวะความตรึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน 

ซึ่งผลกระทบยังจำกัดอยู่ที่ประเทศคู่ขัดแย้งจึงยังไม่ค่อยมีผลกระทบกับไทยโดยตรง นอกจากราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมันอยู่ นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีที่ผ่านมา มุ่งสนองความต้องการในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานการณ์วิกฤติยูเครนยังยืดเยื้อและส่งผลไปถึงเศรษฐกิจโลกก็คงจะเกิดผลกระทบกับอีอีซีเช่นกันรวมถึงสถานการณ์โควิดที่อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในปีนี้ ไม่ถึง 6 ล้านคนตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งตอนนี้ยังต้องรอประเมินสถานการณ์อีก 1 เดือน

ขณะนี้ประเมินผลกระทบหลักที่ส่งผลต่อการลงทุนในอีอีซีคือ “สถานการณ์โควิด” ที่เกิดขึ้นภายหลังการเซ็นสัญญา 4 โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมว่า ทุกโครงการมีความสำคัญ ต้องดูแลคู่สัญญาให้ดีโดยดำเนินการอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้โครงการเดินต่อไปข้างหน้าได้

ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซี ได้แก่ โครงการท่าเรือมาบตาพุดที่เข้าสู่ระยะการก่อสร้าง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดโครงการ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 โครงการสนามบินอู่ตะเภาขณะนี้รายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ผ่านการเห็นชอบแล้ว โดยจะเริ่มขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่ต่อไป และกำลังเข้าสู่ระยะก่อสร้าง รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ส่งมอบพื้นที่แล้ว 99% ซึ่งน่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ได้ในเร็วๆ นี้

ด้านสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ รวม 7 เขต เริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์อีอีซี แก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ 

สิทธิประโยชน์ตรงความต้องการ

โดยมีหลักการที่สำคัญคือ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน มุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ ดิจิทัลและอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG

“การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ยังเดินหน้าต่อ อย่างไรก็ดี สกพอ. ได้รับแจ้งปัญหาที่มีบริษัทต่างชาติบางแห่งเลือกที่จะไม่ใช้ไทยเป็นฐานใหญ่ในการผลิตแต่จะไปเลือกใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานการผลิตแทน เพราะข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศของไทยน้อยกว่าประเทศอื่น แม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องทักษะแรงงานที่สูงกว่า แต่ภาพรวมที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติยังต้องช่วยกันดูแลอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ไทยไม่หลุดจากประเทศน่าลงทุนโดยไม่รู้ตัว”

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ สกพอ. ร่วมกับ กองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย

กพอ.ลุยต่อแผนดึงทุนเอเชีย แม้ปมรัสเซีย-ยูเครนยังระอุ

เห็นชอบจัดมหกรรม Air Show

การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 - 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ มากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท

สำหรับการทำงานเชิงพื้นที่ของ อีอีซี เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ที่ประชุม กพอ. รับทราบ โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนโดยการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมสินค้าโอทอป (OTOP) ขยายช่องทางจำหน่ายให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งช่วยหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้ค้ารายย่อย พร้อมตั้งกลุ่มเป้าหมายและสินค้าที่นิยมในพื้นที่นำร่อง อย่างน้อย 10 ชุมชน

มีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เอกชน ทำหน้าที่ วางแผนการผลิต การตลาดส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ ในระดับมาตรฐานมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับนวัตกรรมใหม่

โดยคาดว่าโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในตุลาคม 2565 คาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชนไม่ต่ำกว่า 30% รายได้รวม (GDP) ระดับชุมชนประมาณ 20% และเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% นอกจากนี้ ทำให้ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพ เกิดแรงจูงใจกลับมาเที่ยวซ้ำ ทำให้ชุมชนคนพื้นที่ อีอีซี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ดีมั่นคง