กพอ.เร่งสิทธิประโยชน์ 7 เขตส่งเสริม ตอบโจทย์เอกชนดึงลงทุน “อีอีซี”

กพอ.เร่งสิทธิประโยชน์ 7 เขตส่งเสริม ตอบโจทย์เอกชนดึงลงทุน “อีอีซี”

กพอ. รับทราบความคืมหน้าลงทุนในอีอีซี โครงสร้างพื้นฐานเริ่มเข้าสู่ระยะก่อสร้าง หนุนให้สิทธิประโยชน์พื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง หวังสร้างเม็ดเงิน 2.2 ล้านบาทตามเป้าใน 5 ปี

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซี ได้แก่ โครงการท่าเรือมาบตาพุดเข้าสู่ระยะการก่อสร้าง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการก่อสร้างโครงการ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 และโครงการสนามบินอู่ตะเภาที่ผ่านการพิจาณาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  (EIA) และกำลังเข้าสู่ระยะก่อสร้าง

นอกจากนี้ในด้านการลงทุน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ

ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ รวม 7 เขต ได้แก่
1. เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa)
2.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันอออก (EECi)
3. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)
4. เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh)
5. ศูนย์นวัตกรรมการแพทยครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd)
6. การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) (EECg)
7. ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง (EECtp)

โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์อีอีซี แก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยร่างประกาศสิทธิประโยชน์ฯ มีหลักการที่สำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน การเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละราย

ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ ดิจิทัลและอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ที่ลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ 

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์อีอีซี เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัว เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตามเป้าหมายของอีอีซี

เตรียมอีเวนท์โชว์ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ดึงท่องเที่ยว

โดยพิจารณาให้ สกพอ. ร่วมกับ กองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค 

อีกทั้งทำให้เกิดแรงจูงใจกับนักลงทุนและเชื่อมโยงนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกเข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจร่วมกันจุดนี้ถือเป็นกำลังสำคัญ เสริมแกร่งการลงทุนเข้าสู่ในพื้นที่ อีอีซี ตามเป้าหมายเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี  

การจัดงานฯ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 - 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ มากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท

ยกระดับ OTOP เพิ่มรายได้ชุมชน

ที่ประชุม กพอ. รับทราบ โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมสินค้าโอทอป (OTOP) เพิ่มศักยภาพการขยายช่องทางจำหน่ายให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งช่วยหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน

พร้อมตั้งกลุ่มเป้าหมายและสินค้าที่นิยมในพื้นที่นำร่อง อย่างน้อย 10 ชุมชน ได้แก่จังหวัดระยอง เช่น ทุเรียนทอดกรอบ เครื่องเงิน จังหวัดชลบุรี เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน ข้าวกล้อง สบู่เปลือกมังคุด จังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ หมูแท่งอบกรอบ เป็นต้น

โดยมีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เอกชน ทำหน้าที่ วางแผนการผลิต การตลาดส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง

และศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ ในระดับมาตรฐานมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับนวัตกรรมใหม่ 

โดยคาดว่าโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในตุลาคม 2565 คาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชนไม่ต่ำกว่า 30% รายได้รวม (GDP) ระดับชุมชนประมาณ 20% และเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% นอกจากนี้ ทำให้ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพ เกิดแรงจูงใจกลับมาเที่ยวซ้ำ ทำให้ชุมชนคนพื้นที่ อีอีซี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ดีมั่นคง