กรมศุลฯ ชี้สู้รบรัสเซีย-ยูเครนไม่กระทบนำเข้า-ส่งออกและการจัดเก็บรายได้

กรมศุลฯ ชี้สู้รบรัสเซีย-ยูเครนไม่กระทบนำเข้า-ส่งออกและการจัดเก็บรายได้

กรมศุลฯ ชี้รัสเซีย-ยูเครนไม่กระทบนำเข้า-ส่งออก เผยเก็บรายได้ 5 เดือน 8.8 พันล้าน เกินเป้า 6% เล็งหารือบีโอไอเร่งสรุปรายละเอียดยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าให้เสร็จทันในปีนี้

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกในประเทศ  เพราะจากสอบถามไปยังผู้ส่งออกและนำเข้า พบว่า ปริมาณการสั่งซื้อขายยังเหมือนเดิมและยังมียอดคำสั่งซื้อเข้าเป็นปกติ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจจะต้องมีการประเมินภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตชิปที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ที่ขาดแคลนมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งอาจถูกกระทบได้ แต่ยืนยันว่า​ สงครามรัสเซียยูเครน ไม่กระทบการจัดเก็บรายได้กรมฯ 

"การจัดเก็บรายได้เดือน ก.พ. 5 หมื่นล้านบาท แต่ในเดือนมี.ค.ที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน คงดูอีกครั้ง แต่เท่าที่คุยกับผู้ส่งออกและนำปริมาณยังคงเหมือนเดิม แม้ว่าการขนส่งทางอากาศอาจได้รับผลกระทบบ้างแต่ก็ไม่มาก มั่นใจว่าไม่กระทบต่อรายได้ของกรมศุลฯแน่นอน"

สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (ตุลาคม 64-กุมภาพันธ์ 65)​ กรมฯจัดเก็บรายได้ 8,800 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 64 จำนวน 6% หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท ต่ำว่าเป้าเอกสารงบประมาณ 0.5% โดยในปีนี้ยังคงเป้าจัดเก็บไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงการคลังปรับลดลงมาให้กรมฯ จากสถานการณ์โควิด-19 

โดยสาเหตุที่เป้าจัดเก็บรายได้ของกรมฯสูงขึ้น มาจากมาตรการโควิดยังมีผลอยู่ทั่วโลก ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศมีตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าปกติ ถึงแม้จะไม่มีการเดินทางแต่การค้าระหว่างประเทศก็ยังมีอยู่ ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด 

สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำรายละเอียดการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ  นายพชร ระบุว่า คงต้องขอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการให้สิทธิประโยชน์ เนื่องจาก​ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงจึงต้องหารือเพื่อกำหนดอัตราภาษีไม่ให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสมและเพื่อให้เกิดการลงทุนพร้อมกับยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อรายได้ของศุลกากรเพราะหากเทียบกับการเพื่อให้เกิดการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่าจากการที่ผู้ประกอบการจะไม่โยกย้ายฐานการผลิต คาดว่าการจัดทำรายละเอียดจะได้สรุปได้ภายในปี 2565 นี้  

ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า กำหนดให้กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles: BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม 

โดยปัจจุบัน บีโอไอ ได้ขยายสิทธิประโยชน์การส่งเสริมไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV-PHEV-HEV ที่กำหนดให้ต้องผลิตภายในเวลา 3 ปีนับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม เพื่อส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ