วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง ต้นทางความลำบากผู้บริโภค

วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง   ต้นทางความลำบากผู้บริโภค

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้วัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์หลายรายการ ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยที่ในฐานะผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ท้ายสุดก็คงเป็นผู้บริโภคที่ตามมาอย่าเลี่ยงไม่ได้

ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณ กรุ๊ป เปิดเผยในการสัมมนา“สงครามบานปลาย ซัพพลายมีปัญหา ทางรอด อยู่ตรงไหน” จัดโดย เวทโปรดักซ์ กรุ๊ป ว่า ไทยได้นำเข้าข้าวสาลีจากยูเครน ถึง29 % จากปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้นสงครามที่เกิดขึ้นจึงทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแน่นอน 

 

วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง   ต้นทางความลำบากผู้บริโภค

การจะหันไปนำเข้าเพิ่มขึ้นจากอินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา นั้นช่วงนี้มีปัญหาไปหมด เพราะภัยแล้ง ดังนั้นไทยที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจึงอยู่ในฐานะ ที่ต้องปรับตัว หาวิธีการ นำวัตถุดิบทางเลือกมาทดแทน แล้วต้องได้คุณค่ามีคุณภาพที่ดีเป็นที่ยอมรับด้วย นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายภาคปศุสัตว์อย่างมาก

นอกเหนือจาก ปัญหาโควิด-19ระบาด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ขาดทุนหลักพันล้านบาท รายเล็กขาดทุนหลักร้อยล้านบาท ลูกไก่มีราคาแพง ทำให้ต้องลดปริมาณการเลี้ยง ซ้ำเติมด้วยปัญหาราคาน้ำมันขึ้นราคา ขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ และธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ทำให้พลาดโอกาสการส่งออก ช่วงไฮซีซั่น ไปยังสหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น จีน ทั้งที่มีความต้องการเนื้อไก่สูงมาก

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาล พิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกรณีเกิดการระบาดไข้หวัดนกเมื่อปี 2547 ที่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เห็นชอบปล่อยกู้ 15,000 ล้านบาท รวมทั้งรัฐบาลควรลดภาษีกำแพงภาษีการนำเข้ากากถั่วเหลือง 2 % เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

มาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงเกิดขึ้นก่อนจะมีสงคราม30-40 % แต่สงครามทำให้ราคาแพงขึ้นไปอีก วัตถุดิบอาหารสัตว์บางชนิด ไม่ได้นำเข้าก็ปรับแพงขึ้นตามไปด้วย เกษตรกรต้องปรับตัว ระวัดระวังการเลี้ยง และติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด อะไรที่สามารถลดต้นทุนได้ ก็ต้องทำ ที่สำคัญ ราคาไข่ไก่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด รัฐไม่ควรคุมราคา

กชกร วัชราไทย เจ้าของลุมเชาวน์ฟาร์ม กล่าวว่า การเลี้ยงโคเนื้อ ไม่สามารถใช้วัตถุดิบอาหารที่มีคุณภาพต่ำได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค หากผู้บริโภคไม่เข้าใจ ก็จำเป็นต้องลดการผลิตลงเพื่อป้อนตลาด พรีเมี่ยมที่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ธนาธิป อุปัติศฤงศ์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ยูเครนเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์ของโลก เมื่อการซื้อขาย และคมนาคมหยุดชะงัก ทำให้ตลาดวัตถุดิบปั่นป่วนและราคาปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อ และจบภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยยูเครนจะเป็นฝ่ายยอมเจรจา ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาราคาวัตถุดิบคลี่คลายลง

เสกสม อาตมางกูร นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ปัญหาราคาอาหารสัตว์ มีราคาแพงอาจจะยาวไปจนถึงปี2566 ซึ่งเป็นผลมาจากสงคราม ,ภัยแล้ง และราคาน้ำมัน อีกทั้งการนำเข้ายังมีปัญหากำแพงภาษี 2 %ของการนำเข้ากากถั่วเหลือง การนำเข้าข้าวโพด จากเพื่อนบ้านยังมีการกำหนดช่วงเวลา และการนำเข้าข้าวสาลี ยังมีกำแพง เรื่องอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องปรับตัว โดยหันมาใช้วัตถุดิบทดแทนในประเทศ ปรับสูตรอาหาร ลดการสูญเสีย การตกหล่นต่างๆ เพื่อลดต้นทุน ทบทวนการเก็บสต็อก สร้างไซโลตามความเหมาะสมของฟาร์ม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต คาดว่าผู้เลี้ยงสัตว์ จะปรับเปลี่ยนมาใช้อาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่จะมีความสามารถต่อรองราคาซื้อวัตถุดิบ และเช็คคุณภาพได้ดีกว่า ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องนำมาทบทวน

 รศ.ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับสูตรอาหารและหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต้ต้องใช้เอนไชน์เพื่อช่วยย่อยและเร่งการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบบางชนิดอาจกระทบกับการเติบโตของสัตว์ นอกจากนี้ต้อง จัดการการเลี้ยง ลดความเครียด ทำให้ทางเดินอาหารแข็งแรง ก็จะช่วยอัตราการเติบโตได้ แม้อาหารคุณภาพจะไม่ดีเท่าเดิม และสุ่มเสี่ยงว่าปริมาณผลผลิตจะลดลงด้วย

ปิยนาถ หอภัทรพุฒิ ผู้จัดการตลาดและผลิตภัณฑ์เวทโปรดักซ์ กรุ๊ป กล่าวว่า นอกจาก ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกแล้ว ต้นทุนปัจจัยการเลี้ยงสัตว์ ในกลุ่มของกรดอะมิโน วิตามิน ยาปฏิชีวนะ และแร่ธาตุ ต่างๆก็ปรับเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากสินค้าบางรายการผันแปรตามราคาน้ำมัน และทองคำ

ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหา ผู้ประกอบการต้องหาจังหวะในการเข้าซื้อ และระมัดระวังเรื่องการจัดส่งให้ตรงตามเวลา ไม่ขาดแคลน เช่น กรดอะมิโนไรซีน ก่อนหน้านี้จีนหยุดเสนอราคา เพราะมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก ปัจจุบันเริ่มเปิดเสนอราคาอีกครั้งในช่วงเดือน มี.ค.- พ.ค.

จากมุมมองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารกำลังชี้ว่าจากนี้สถานการณ์ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทางของความยากลำบากผู้บริโภคที่ต้องแบกรับผลจากเหตุการณ์ความไม่ลงรอยกันระหว่างรัสเซียและยูเครน เรียกได้ว่า แม้ทางตรงไม่กระทบแต่ก็กระเทือนคนไทยอยู่ไม่น้อย