ดัชนีฯที่พักแรม ก.พ.65 ชี้ “โอมิครอน” ฉุดเดินทาง วอนรัฐลดข้อจำกัดเปิดประเทศ

ดัชนีฯที่พักแรม ก.พ.65 ชี้ “โอมิครอน” ฉุดเดินทาง วอนรัฐลดข้อจำกัดเปิดประเทศ

“สมาคมโรงแรมไทย” กางผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ก.พ.65 “โอมิครอน” ยังคงฉุดการท่องเที่ยว ต้นทุนเข้าพักสูงจากเงื่อนไขต่างๆ เช่น การตรวจ RT-PCR หวังรัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นและลดข้อจำกัดในการเปิดประเทศ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จัดทำโดยสมาคมฯและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผู้ประกอบการที่พักแรมตอบแบบสำรวจจำนวน 142 แห่ง เป็นโรงแรมกักตัวทางเลือกหรือ AQ 12 แห่ง และฮอสพิเทล 3 แห่ง ระหว่างวันที่ 11 - 23 ก.พ. 2565 พบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 34% เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.ซึ่งอยู่ที่ 32% จากผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ และการกลับมาเปิดลงทะเบียน Test & Go รอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565

“อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีสัดส่วนต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และการเดินทางเข้าพักมีต้นทุนสูง เช่น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR”

สำหรับข้อมูลสรุปผลสำรวจจากโรงแรมจำนวน 127 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น AQ และฮอลพิเทล) มีโรงแรม 72% เปิดกิจการปกติ ใกล้เคียงเดือน ม.ค.ที่ 73%

ทั้งนี้โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนราว 3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งอย่างเร็วตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เป็นต้นไป ส่วนรายได้ของโรงแรมส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เดียงเดือน ม.ค. และมีโรงแรมที่รายได้กลับมาไม่ถึง 30% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ยังมีสัดส่วนราว 49% และโรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 19%

สำหรับสภาพคล่องเดือน ก.พ. โรงแรมส่วนใหญ่มีลดลงจากเดือน ม.ค. และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนอยู่ที่ 15% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

สอดคล้องกับรายได้ของธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 17% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักมากกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนการจ้างงานเดือน ก.พ. 65 เฉลี่ยลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 59.8% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19

ด้านมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐไม่ต่างจากการสำรวจรอบก่อนมากนัก ประกอบด้วย การสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิมมาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น ขยายระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนการจัดประชุมนอกสถานที่และประชาสัมพันธ์ดึงดูดต่างชาติ รวมถึงมาตรการลดค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย ตลอดจนการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ในปี 2565-2566 ไปอีก 2 ปี เพราะไม่มีรายได้และความพร้อมจะชำระ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและลดข้อจำกัดในการเปิดประเทศ