อุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ เร่งปรับตัวรับเทรนด์อีวี

อุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ เร่งปรับตัวรับเทรนด์อีวี

มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2565 จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้รถอีวีในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในระยะ 5 ปี

โดยหนึ่งในหมุดหมาย คือ การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่อย่างเต็มที่ พร้อมกับที่มีการผลิตชิ้นส่วนหลักและปรับเปลี่ยนฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในให้เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าได้ด้วย โดยไม่ทิ้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม เพื่อรักษาสมดุลในการเปลี่ยนผ่าน

รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบการชื้นส่วนในอุตสาหกรรมเดิมในระดับ (Tier) ต่างๆ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ โดยได้มีมาตรการรองรับสำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แบ่งอออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่


1.การส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของรถยนต์สันดาปภายในที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมราง หรือธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ

2.การกำหนดมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ผู้ประกอบการและแรงงานในธุรกิจปิโตรเคมี และเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ จะรักษาความสามารถการแข่งขันผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ยังทำตลาดได้และยังไม่สามารถพัฒนาสู่อีวีในระยะเวลาสั้น เช่น รถปิกอัพ โดยพิจารณาจากความพร้อมของผู้บริโภคและความพร้อมของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ในขณะที่ Product Champion ของไทย เช่น รถปิกอัพ อีโคคาร์และจักรยานยนต์ จะส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์โดยเร็ว

พินัย ศิรินคร อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่รยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีในปัจจุบันยังเน้นที่การนำเข้ารถสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) โดยมีเงื่อนไขให้แบรนด์รถต้องวางแผนการผลิตรถอีวีในประเทศคืนภายใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้รถอีวีสัญชาติอื่นแข่งขันกับจีน ซึ่งได้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้า FTA เสียภาษีอากรนำเข้า 0% ทำให้คู่แข่งอย่างยุโรป และญี่ปุ่น สามารถแข่งขันได้ พร้อมกับให้ลดภาษีสรรพสามิตและเงินอุดหนุนเพื่อกระตุ้นการซื้ออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เองยังไม่เห็นดีมานต์ หรือการสั่งซื้อเพื่อผลิตให้กับรถอีวีเนื่องจากยังไม่มีการผลิตในประเทศ แม้แต่แบรนด์รถจีน 2-3 แห่ง ที่นำเข้ามาในไทยได้ระยะหนึ่งแล้วก็ยังไม่เห็นว่ามีแผนจะซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้ากับผู้ผลิตในไทย จึงมองว่าต่อจากนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย

ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาชิ้นส่วนยานยนต์นำเข้าจากจีนพบว่ามีราคาถูกกว่าของไทยมาก อีกทั้งชิ้นส่วนที่เป็น functional parts เช่น แบตเตอรี่ ส่วนควบคุม จะผลิตโดยค่ายรถยนต์เป็นหลัก ส่วนการแบ่งผลิตในเทียร์ 2 และ 3 ได้มากน้อยเพียงใดยังไม่ทราบ

โดยในช่วง 1-2 ปี นี้ มองว่าผู้ผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จะยังคงผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในตามความต้องการของตลาดและคำสั่งซื้อของค่ายรถ เพียงแต่ในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้ มีอัตราเร่งของความต้องใช้รถอีวีที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ราคาน้ำมัน การสนับสนุนของรัฐบาลทำให้ราคารถอีวีต่ำลง พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ภาพอนาคต 5-10 ปี ปริมาณการใช้รถอีวีจะเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมและเกิดความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เองได้มีการพูดคุยและเตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประกอบด้วยแผน 4 เรื่อง ดังนี้

1.มุ่งผลิตชิ้นส่วนให้ตลาดรถเก่า ด้วยความเชี่ยวชาญของผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ซึ่งก่อนหน้านี้จะเน้นขายให้กับตลาด OEM ถึง 80% จะปรับไปผลิตให้ตลาด REM เป็นอะไหล่สำหรับรถ ICE ที่ยังมีอายุการใช้งานอีกราว 15 ปีอยู่ทั่วโลก

2.ผลิตชิ้นส่วนสำหรับโรงงาน 4.0 ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนมีศักยภาพในการผันตัวเองไปผลิตเครื่องจักรแขนกล เพื่อป้อนให้กับระบบอัตโนมัติในโรงงาน

3.ผลิตให้อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ไทยต้องการผลักดัน อาทิ เครื่องมือแพทย์ เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ในการขับเคลื่อน

4.อัพสกิลผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อแข่งขันในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเนื่องจากจำนวนชิ้นส่วนที่น้อยลง

ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อรัฐให้ช่วยเหลือในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี สำคัญที่สุด คือการพัฒนาบุคคลากรให้พร้อม โดยเสนอต่อ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในการทำโครงการพัฒนาบุคคลากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้าง New Skill ในการเรียนรู้เทคโลยีใหม่สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการยกระดับด้านเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐสนับสนุนทุนวิจัยในการเข้าสู่ตลาดรถยนต์เก่า (after market) ซึ่งมีการใช้แพลตฟอร์มและโปรแกรมที่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยังมีไม่มาก รวมทั้งเรื่องการวิจัยและพัฒนาสำหรับการขายในตลาดนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตต่างจากการผลิตแบบเดิมที่ผลิตในปริมาณมากและทำตามคำสั่งของค่ายรถเท่านั้น ความเป็นไปอย่างหนึ่งคือสร้างความร่วมมือกับตลาดในไต้หวันที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ รวมถึงตลาดในประเทศอื่นๆ ที่ต้องการหาพันธมิตรในตลาดดังกล่าว