“อรุณ พลัส” เปิดแผนแพลตฟอร์ม EV ดันปตท.ฮับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า

“อรุณ พลัส” เปิดแผนแพลตฟอร์ม EV ดันปตท.ฮับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า

“อรุณ พลัส” เปิดแผนแพลตฟอร์ม EV เสริมแกร่งปตท. เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจรทั้งผู้ผลิต ขาย บริการหลังการขาย เช่า ซ่อม ยืนยันไม่ซ้อนกับตลาดอื่น และไม่ดิสรัปกับธุรกิจเดิมของปตท.

นายเอกชัย ยิ้มสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า เมื่อโลกต่างมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ถ้าเราไม่เปลี่ยนวันนี้วันข้างหน้าก็จะต้องถูกผลักดันและเปลี่ยนอยู่ดี โดยเฉพาะการใช้พลังงานสะอาดการลดภาวะโลกร้อนซึ่งวิสัยทัศน์ กลุ่มปตท. คือ “powering Life with Future Energy and Beyond” โดยทุกธุรกิจที่จะส่งเสริมเพื่อให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นทุกอย่างจึงถูกผสมผสานเป็นภาพรวมธุรกิจที่ปตท.จะขับเคลื่อน

ดังนั้น อีวีเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ปตท.มองว่าเป็นโอกาสที่จะเป็น New s-curve ให้กับธุรกิจของปตท.ในอนาคต และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐในการที่จะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในการผลิตรถยนต์จากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดขึ้นในอนาคต

บริษัทในกลุ่มปตท.บางส่วนก็อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันแล้วครอบคลุมทั้งการผลิตวัสดุอุปกรณ์ในรถที่มาจากเม็ดพลาสติกที่มาจาก PTTGC และ GPSC ในเครือปตท. ได้ศึกษาโอกาสการลงทุนในเรื่องของแบตเตอรี่ ส่วนโออาร์ดูเรื่องสถานีชาร์จแบตเตอรี่

“กลุ่มผู้บริหารจึงดูว่ามีจิ๊กซอว์อะไรบ้างที่จะต่อกันได้ เพื่อทำกำไรหรือรายได้เยอะๆ เอาหลายองค์ประกอบมารวมกันจึงเกิดอรุณ พลัสขึ้นมาเพื่อทำหลายสิ่งที่ปตท.ทำอยู่ปัจจุบันให้เสริมและเดินไปจุดมุ่งหมายเดียวกัน เปรียบได้กับตัวกลางประสานตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำ”

ทั้งนี้ ต้นน้ำก็คือ PTTGC ผลิตเม็ดพลาสติกทำชิ้นส่วนยานยนต์ ตรงกลางน้ำคือ GPSC เอาชิ้นส่วนของแบตเตอรี่มารวมกันก่อนนำส่งลูกค้า ดังนั้น อรุณ พลัส จึงร่วมกับ GPSC เพื่อสร้างอีโคซิสเต็ม ซึ่งหากถ้ามอง Supply&Demand อรุณ พลัสจะเป็นเหมือนดีมานด์ให้กับต้นน้ำจึงเกิดความเชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ โออาร์พยายามสร้างอีโคซิสเต็มใหม่ของการใช้อีวี ผ่านปั๊มน้ำมันกว่า 2,000 สถานี ที่มีอยู่ปัจจุบัน หลายคนอาจมองว่าชาร์จไฟที่บ้านสะดวกกว่า แต่ความจำเป็นนอกบ้านยังมี โดยเฉพาะการลงทุนสถานีชาร์จเร็ว Quick Charge ที่ชาร์จเร็วกว่าชาร์จที่บ้านหลายเท่าแต่ต้องลงทุนสูง

ส่วนตัวรถ 4 ล้อมีความจำเป็นในภาพของการแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีจะต้องเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ปตท.ร่วมมือกับผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์อย่าง “ฟ็อกซ์คอนน์” ที่มีแผนตั้งแต่แรกว่าจะเข้ามาในธุรกิจอีวี มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน มองว่าเรื่องของอีวี อนาคตจะเป็นลักษณะเหมือนคอมพิวเตอร์ที่ติดล้อ เทคโนโลยีจะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้ชนะในตลาดนี้ในอนาคต จะเห็นว่า Huawei, Sony แม้แต่ Apple ก็มีแผนเข้ามาตลาดอีวีเช่นกัน

“แบรนด์รถที่สนใจมาเปิดตลาดในหรือภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่อยากลงทุนเงินก้อนใหญ่ ก็มาคุยกับเรา อรุณ พลัส สามารถเลือกให้เราได้ว่าจะให้ทำแบบไหน เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ ลูกค้าก็จะได้ต้นทุนที่ถูก ร่นระยะเวลา ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่จะแข่งกันในอนาคตคือเทคโนโลยี”

นอกจากนี้ อรุณ พลัส คุยกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ และจับมือกับ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด รวมถึงค่ายจีน ยุโรปฝั่งอเมริกา ก็มีความร่วมมือไว้บ้าง ซึ่งปตท.พยายามให้เห็นอินฟราสตรัคเจอร์ที่ปตท.มีอยู่ในปัจจุบัน มีบริษัทลูกทำดิจิตอลแพลตฟอร์มครบววงจร 

อีกทั้ง ปตท.ยังมี “อีวีมี พลัส” บริการเช่ารถอีวีในแพลตฟอร์มที่หลากหลายยี่ห้อครอบคลุมทุกความต้องการ เพื่อให้เป็นทางเลือดของผู้ใช้งาน โดยตอนนี้มีเกือบ 200 คัน มีการเช่ารถใช้ถึง 90% และเน้นให้พนักงานในกลุ่มได้ทดลองใช้ก่อน เป็น mobility on demand อยากให้คนที่ลังเลว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปหรือไม่ถ้าใช้รถไฟฟ้า

นอกจากนี้ หากลูกค้ามาให้อรุณ พลัส ผลิตรถอีวีให้จะไม่มีปัญหาในเรื่องของบริการหลังการขาย เพราะปตท.มีภาพรวมในการสร้างการแข่งขันอีโคซิสเต็มผ่านศูนย์บริการ "ฟิต ออโต้" ของ โออาร์ ถือว่าทำครบวงจรและไม่ไปซ้อนกับตลาดอื่น ครบวงจรทั้ง ผลิต ขาย บริการหลังการขาย เช่า และซ่อม ดังนั้น อีวีจะไม่ดิสรัปกับธุรกิจเดิมของปตท.แน่นอน