ผู้ส่งออกข้าว"ห่วงน้ำมัน ด้นต้นทุนขนส่ง-กดดีมานด์สินค้า

ผู้ส่งออกข้าว"ห่วงน้ำมัน ด้นต้นทุนขนส่ง-กดดีมานด์สินค้า

ผู้ส่งออกข้าว ชี้ ยังไม่กระทบส่งออกข้าวไทย ห่วงน้ำมันดันต้นทุนขนส่ง ด้านกรมการค้าต่างประเทศกางแผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทยปี 65 เตรียมลุยกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้ารายสำคัญผ่านออนไลน์ เน้นจับมือเวียดนามเป็นพิเศษ เล็งเจาะซาอุดิอาระเบีย หลังฟื้นความสัมพันธ์

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบในวงกว้างจากจุดเริ่มต้นที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งจากปัจจัยที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายหนึ่งของโลก และปัจจัยความกังวลหากสถานการณ์รุกลาม 

ราคาน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่เป็นสารตั้งต้นของการผลิตสินค้าหลายรายการไม่เว้นแม้แต่สินค้าเกษตรซึ่ง“ข้าว”ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้หรือไม่อย่างไร 

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบต่อการส่งออกข้าวไทย และการส่งออกไปยังประเทศรัสเซียและยูเครน ไม่มากนัก โดยในปี 2564 ส่งออกข้าวไปรัสเซีย 6 พันกว่าตัน ยูเครน 2 พันกว่าตัน 

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับ 1 ของโลก หากมีการห้ามส่งออกข้าวสาลีก็จะทำให้ราคาตลาดโลกเพิ่มขึ้นและอาจดึงราคาข้าวและธัญพืชอื่นเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย

 

ส่วนผลกระทบต่อกระบวนการทำการค้า โดยเฉพาะการขนส่งพบว่าภูมิประเทศรัสเซีย-ยูเครน ไม่ติดทะเลที่จะทำให้เส้นทางการเดินเรือหลักมีปัญหา จึงคาดว่าไม่จะส่งผลต่อเส้นทางการเดินเรือมากนัก โดยเฉพาะเส้นทางไปยุโรป แอฟริกา ฝรั่งเศส ที่เป็นลูกค้าหลักของไทย 

"ประเด็นที่ต้องติดตามและอาจมีผลกระทบคือ ค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันแตะระดับกว่า 100 ดอลลาร์ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งแพง และอาจทำให้การเลือกซื้อของประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากประเทศที่ใกล้กว่า และราคาถูกกว่าของไทย โดยขณะนี้มีการปรับค่าระวางแล้ว"

ทั้งนี้ เป้าหมายการส่งออกข้าวปี2565 ที่ตั้งไว้  7 ล้านตันนั้น คาดว่าน่าจะทำได้เพราะขณะนี้สามารถส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางได้ ซึ่งแต่ละประเทศนำเข้าข้าวกว่า 1ล้านตัน ซึ่งในอดีตไทยสูญเสียตลาดข้าวนี้ไปเกือบทั้งหมด แต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบันก็มีการซื้อข้าวจากไทย เช่น ประเทศอิรัก อิหร่าน เป็นต้น

แม้เศรษฐกิจโลกยังอยู่บนความเสี่ยงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แต่สินค้ากลุ่มอาหารอย่าง“ข้าว”ที่มีความจำเป็นบริโภคอย่างต่อเนื่องแต่ในปีนี้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลายด้านการกำหนดแผนการส่งเสริมการส่งออกข้าวปีนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก


 

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้ปรับแผนการประชาสัมพันธ์ตลาดข้าวไทยปี 2565 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการกระชับความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนผู้นำเข้ารายสำคัญในจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามความต้องการของตลาด และหาช่องทางในการผลักดันการส่งออกข้าวไทย รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการนำเข้าข้าวในแต่ละตลาด ทั้งนี้ เฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญรายหนึ่งของโลก จะเน้นการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ข้าวและปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน

“เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปี2565 กรมฯ และภาคเอกชนประเมินไว้ว่าจะทำได้ปริมาณ 7 ล้านตัน ซึ่งแนวโน้มการส่งออกยังเป็นไปได้ด้วยดี เพราะขณะนี้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เบาลงแล้ว แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงเรื่องค่าระวางสูง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน มีส่วนช่วยให้ข้าวไทยแข่งขันได้ หากไม่แข็งค่าไปกว่านี้”

สำหรับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทย กรมฯ จะเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มความนิยมในข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ มีแผนที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศ ได้แก่THAIFEX–Anuga Asiaและในต่างประเทศ เช่น งานGulfoodณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งการขยายตลาดข้าวไทยในซาอุดิอาระเบีย หลังจากมีการฟื้นความสัมพันธ์ โดยขณะนี้ได้ขอความร่วมมือทูตพาณิชย์ทำการสำรวจความต้องการ ทำความรู้จักผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของซาอุฯ เมื่อสถานการณ์โควิด-19คลี่คลาย ก็จะนำคณะผู้ประกอบการไทยเดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวต่อไป

ส่วนการผลักดันการส่งออกข้าวไทยในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จะติดตามผลการเจรจาจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอิรัก เพื่อหาข้อสรุปต่อไป และแม้จะยังไม่มีMOU ภาคเอกชนไทย ก็สามารถที่จะส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดอิรักได้แล้ว