สทนช.เล็งพื้นที่“มาบตาพุด” ตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเล

สทนช.เล็งพื้นที่“มาบตาพุด”  ตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเล

การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกจะทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น และทำให้ต้องเตรียมการจัดหาน้ำสำรอง โดยมีแผนที่จะผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลมาผลิตน้ำจืด ซึ่งจะมีการสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุน

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภายหลังการประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศ “โครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (ปี 2563-2580) ว่า

สทนช.เล็งพื้นที่“มาบตาพุด”  ตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเล

เพื่อเตรียมรองรับความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้นใน 20 ปี ซึ่งต้องการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงต้องหาน้ำต้นทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และจัดสรรน้ำให้แก่ภาคส่วนต่างๆ อย่างสมดุล

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ชาติ ยกระดับคุณภาพชีวิตและลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่างๆ จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือก โดยใช้เทคโนโลยีที่ให้น้ำปริมาณสูงเพียงพอที่จะเสริมความมั่นคงของทรัพยากรน้ำใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ยั่งยืน เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination)

สำหรับพื้นที่เหมาะสม ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งที่ต้องการความมั่นคงด้านน้ำสูง ซึ่งปัจจุบันมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง รวมถึงอุตสาหกรรมใกล้เคียงและเมืองท่องเที่ยว เช่น เมืองพัทยา

สทนช.มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

เพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำใน EEC ซึ่งจะลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำของใน EEC อย่างยั่งยืน

เสนอแนวทางการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเลร่วมกับการบริหารจัดการน้ำต้นทุนอื่นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในชลบุรีและระยองอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งศึกษาปริมาณและคุณภาพน้ำที่ต้องการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเมืองพัทยา รวมถึงเสนอรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม แนวทางการคำนวณเพื่อกำหนดราคาค่าน้ำ และปัจจัยที่ควรพิจารณาในการจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อการลงทุนและการก่อสร้างโครงการต่อไป

สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ได้แก่ ชลบุรีและระยอง ครอบคลุม 2 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำบางปะกงและลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศใต้ ติดกับ ชายฝั่งทะเลทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดจันทบุรี และ ตะวันตก ติดกับ ชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้มีพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่เหมาะสมตั้งโรงผลิตน้ำจืดจากทะเล คือ พื้นที่มาบตาพุด Site B นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีระยะห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 0.7 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือมาบตาพุด โดยมีลักษณะพื้นที่โล่งหน้ากว้างติดทะเล 300 เมตร อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และมีความ เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคต

ส่วนอัตรากำลังการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่เหมาะสม พบว่า สถานการณ์ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในปี 2570 จำเป็นต้องพัฒนาระบบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล บนพื้นที่บริเวณมาบตาพุดขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน โดยต้องผลิตต่อเนื่อง รวมถึงควรพัฒนาระบบสำรองเพิ่มเติมในปีที่มีน้ำน้อยกว่า 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน 

รวมทั้งเมื่อรวมแหล่งน้ำสำรองที่มีอยู่ในพื้นที่จะทำให้มีน้ำเพียงพอความต้องการ แต่ยังมีโอกาสการขาดแคลนน้ำในกิจกรรมการใช้น้ำอื่นที่ไม่ได้ใช้ระบบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่ 20% ของช่วงเวลา

แต่เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าในการลดความขาดแคลนน้ำแต่ละพื้นที่ต่อกำลังการผลิต พบว่าที่ปริมาณการผลิตที่ 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน เป็นปริมาณที่ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำได้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำในปี 2580 จำเป็นต้องพัฒนาระบบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุดไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม. ต่อวัน โดยต้องผลิตต่อเนื่องและควรพัฒนาระบบสำรองเพิ่มเติมในปีที่มีปริมาณน้ำอีก 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน และการพัฒนาระบบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบนพื้นที่บริเวณพัทยา-ชลบุรี ขนาด 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน

ทั้งนี้ เมื่อรวมแหล่งน้ำสำรองที่ในพื้นที่จะเพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำ แต่ยังมีโอกาสขาดแคลนน้ำในกิจกรรมการใช้น้ำอื่นที่ไม่ได้ใช้ระบบการผลิตน้ำจืดจากทะเลที่ 20% ของช่วงเวลา

ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลใช้กระบวนการรีเวอร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis : RO) เหมาะสมที่สุด เมื่อเทียบเทคโนโลยีอื่น รวมทั้งใช้ร่วมกับพลังงานทางเลือกไดและมีความยั่งยืนมากกว่าเทคโนโลยีอื่นเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาจนมีค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (OPEX) ต่ำกว่ากระบวนการอื่น

รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบการผลิตน้ำจืดจากทะเลและผู้ประกอบการสวนใหญ่สรุปได้ว่ากระบวนการ RO เหมาะสมที่สุด 

กระบวน RO จะเป็นการแยกน้ำจืดออกจากน้ำทะเล โดยอาศัยแรงดันที่สูงกว่าแรงดันออสโมติกในการผลักดันให้น้ำเกิดการข้ามผ่านเยื่อเลือกผ่าน (Membrane) ที่ทำหน้าที่เป็นเยื่อกั้นและคัดเลือกสารผ่านเมมเบรน โดยน้ำจากน้ำทะเลจะข้ามผ่านเมมเบรนไปทางฝั่งเพอมิเอต

ขณะที่โมเลกุลของเกลือและอนุภาคแขวนลอยอื่นไม่สามารถข้ามผ่านได้ โดยจะถูกกักไว้และไหลออกทางด้าน Retentate ทำให้ได้น้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง ระบบการแยกด้วยเมมเบรน RO โดยก่อนเข้าสู่ระบบ RO น้ำทะเลจะถูกส่งไปยังหน่วยบำบัดขั้นต้นก่อนเข้าสู่กระบวนการแยก เพื่อดักจับตะกอนขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการอุดตันของเมมเบรน การบำบัดขั้นต้นทำให้ดัชนีมีความหนาแน่นของตะกอน (SDI)น้อยกว่า 2 และค่าความขุ่นของน้ำ( NTU) น้อยกว่า 0.05

รวมถึงการปรับ pH ของน้ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม (5.5-7.0) จากนั้นน้ำที่ผ่านหน่วยบำบัดขั้นต้นจะถูกป้อนสู่ Membrane โดยอาศัยแรงดันสูง โดยความดันที่ใช้ขึ้นกับสภาพแหล่งน้ำ สำหรับน้ำกร่อยจะใช้ความดันอยู่ในช่วง 17-27 บาร์และสำหรับ น้ำทะเลอยู่ในช่วง 55-82 บาร์ จากนั้นน้ำสะอาดที่ผ่านเมมเบรนจะถูกส่งไปหน่วยบำบัดอีกครั้งเพื่อกำจัดแก๊สและปรับ pH ก่อนนำไปใช้ประโยชนในลำดับถัดไป

ด้านต้นทุน ระบบการผลิตน้ำจืดจากทะเล 2 แสนลบ.ม.ต่อวันวงเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท จะมีความคุ้มค่ามากที่สุด การกำหนดอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม ไว้ที่ 8% ต่อปี ราคาจำหน่ายน้ำที่ได้คือ 25.40 บาทต่อลบ.ม.จะมีระยะเวลาคืนทุน 12.98 ปีนับตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างหรือ 9.98 ปีนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิต

ซึ่งราคาดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเอกชน เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่รัฐจะต้องรับประกันการราคาจำหน่ายและปริมาณการจำหน่ายด้วย หรือการลงทุนในลักษณะ Build-Operate-Transfer (BOT) เป็นโครงการที่หน่วยงานเอกชนจัดสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสาธารณูปโภคขึ้นมาใหม่ บริหารจัดการด้วยตนเอง จากนั้นจึงโอนถ่ายให้แก่ภาครัฐเมื่อเสร็จสิ้นสัญญา