ผู้บริหารไมโครซอฟท์ หารือ นายกฯ พร้อมขยายลงทุน ช่วยพัฒนาบุคลากรดิจิทัล

ผู้บริหารไมโครซอฟท์ หารือ นายกฯ พร้อมขยายลงทุน ช่วยพัฒนาบุคลากรดิจิทัล

ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชีย เข้าพบนายกรัฐมนตรี พร้อมร่วมมือพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชนไทยครอบคลุมทุกระดับอย่างต่อเนื่อง 

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2565)นาย Ahmed Mazhari ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชีย และคณะผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบ พร้อมชื่นชมบทและประสบการณ์การทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการดำเนินความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ของบริษัท ไมโครซอฟท์ มาอย่างยาวนาน ทราบว่า บริษัท ไมโครซอฟท์ได้พบหารือ และมีความร่วมมือกับภาครัฐไทยอย่างสม่ำเสมอในส่วนของความร่วมมือที่เกี่ยวข้องหลากหลายมิติ เช่น การพัฒนาทักษะ การใช้ดิจิทัลของแรงงาน การยกระดับการศึกษานอกสถานที่โดยสนับสนุนระบบการเรียน การสอนทางไกล 

ด้านประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชียกล่าวยินดีที่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พร้อมแสดงความยินดีในโอกาสที่ไทยดำรงตำแหน่งเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 (APEC 2022) ซึ่งแสดงออกได้ว่าไทยมีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ พร้อมขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ 

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ในวันนี้จะมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ โอเปอเรชั่น จำกัด สิงคโปร์ เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการนำร่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและภาคเอกชนในการประสานกับหน่วยงานของรัฐ

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณบริษัทฯ ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชนไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นการเตรียมความพร้อม และพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยให้เท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พร้อมขอให้บริษัทฯ พิจารณาสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทย โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกระดับอย่างต่อเนื่องต่อไป

 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต่อการเดินหน้าสู่ เศรษฐกิจ/อุตสาหกรรมสีเขียว และความยั่งยืน โดยไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ ประกาศแผนการปล่อยคาร์บอนให้เป็นลบ และขจัดคาร์บอนทั้งหมดที่เคยปล่อยไป ภายในปี 2573 ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยจัดการกับความท้าทายที่กำลังเผชิญได้ โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่า บริษัทฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจะสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศพัฒนาแล้ว โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม กฎระเบียบ และข้อบังคับทางกฎหมาย ให้เป็นไปตามหลักสากล

ผู้บริหารไมโครซอฟท์ หารือ นายกฯ พร้อมขยายลงทุน ช่วยพัฒนาบุคลากรดิจิทัล

ในตอนท้าย นากยรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณความร่วมมือจากบริษัทฯ ในการร่วมบูรณาการพัฒนาหลักสูตรอบรม สร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับในภาคอุตสาหกรรม และการรับรองตามมาตรฐานสากล พร้อมกล่าวเชิญชวนบริษัทฯ ร่วมกันสานต่อและยกระดับกำลังคนดิจิทัลของประเทศไทยต่อไป