“DGA” เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล แบ่ง 10 กลุ่มเป้าหมายบริการประชาชน-ธุรกิจ

“DGA” เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล แบ่ง 10 กลุ่มเป้าหมายบริการประชาชน-ธุรกิจ

“DGA” เดินหน้าแผนรัฐบาลดิจิทัลปี 66 - 70 ให้ความสำคัญ10 กลุ่ม แก้ปัญหาความต้องการของประชาชน - ภาคธุรกิจ เข้าถึงการบริการภาครัฐ สถาบัน DIGI เตรียมทำความร่วมมือแลกเปลี่ยน Big Data ระหว่างหน่วยงาน เน้นการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่มี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า DGA ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ปี พ.ศ. 2566 – 2570 DGA ที่ได้จัดทำขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ (Responsive Government) เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ (Enhance Competitiveness) โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม (Open Government & Trust) และภาครัฐปรับตัวทันเวลา (Agile Government)

ทั้งนี้ได้เพิ่มเติมกลุ่มที่มุ่งเน้นความสำคัญ (Focused Areas) เป็น 10 กลุ่มปัญหาที่ให้ความสำคัญในการทำแผนฯเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มประชาชนที่ต้องการได้รับการแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำในสิทธิสวัสดิการประชาชน การศึกษา การเกษตร กลุ่มที่ต้องการได้รับสุขภาพ การแพทย์ สิ่งแวดล้อม แรงงาน และการท่องเที่ยว เป็นต้น

นายสุพจน์กล่าวว่าที่ประชุมได้มีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าภารกิจในโครงการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” ทั้งที่เป็นข้อมูลเปิดเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน โดยขอให้ DGA เร่งรัดทำงานร่วมกับทุกกระทรวง ตลอดจนการนำชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน หรือ นำข้อมูลมาต่อยอดสร้างประโยชน์แก่ภาคประชาชน เอกชน และภาครัฐให้เป็นรูปธรรม และทำให้สำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างของ “การใช้ประโยชน์จาก Big Data” มุ่งให้ปี 2565 เป็นปีแห่ง “Data Driven Government” อย่างแท้จริง

ที่ประชุมฯได้มอบหมายให้สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และ DGA ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อหาแนวทางให้เกิดการยอมรับเอกสารดิจิทัลในหน่วยงานภาครัฐ และประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ในด้านเศรษฐกิจการสนับสนุน SME ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ สสว. ร่วมกับ DGA พัฒนาระบบ One ID One SME เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SME ได้เชื่อมโยงโครงการสนับสนุนของรัฐจากหน่วยงานต่างๆได้สะดวกรวดเร็วขึ้น 

สำหรับด้านโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านสวัสดิการ (Welfare Platform) ได้ให้หน่วยงานเร่งจัดทำบริการด้านสวัสดิการของตนให้เป็นบริการผ่านระบบดิจิทัล (Digital Service) แบบครบวงจร “รู้ ยื่น จ่าย รับ” โดยให้เข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลด้านสวัสดิการบนแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ ร้องขอสิทธิ์สวัสดิการของตนได้แบบเบ็ดเสร็จ และได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับสวัสดิการจากรัฐด้วย

ส่วนโครงการระบบกลางด้านกฎหมาย (Law Portal) ขอให้ทุกหน่วยงานนำร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็น และประเมินผลสัมฤทธิ์ผ่านระบบกลางฯ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ศ. 2562 รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย และร่วมประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เว็บไซต์ www.law.go.th ในวงกว้างมากขึ้น

โดยมอบหมายให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะ ด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem) เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (GDX) โดยการสนับสนุนของ DGA พร้อมรายงานความคืบหน้าต่อคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งถัดไป

 นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญที่อยู่ในภารกิจมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ได้แก่ระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ผ่านหมายเลข 1111 ของสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เป็นระบบที่เชื่อมโยงเรื่องร้องเรียนต่างๆจากประชาชนและทำให้รัฐบาลเข้าถึงปัญหาร้องเรียนจากประชาและตรวจติดตามความคืบหน้าและการแก้ไขให้กับประชาชนได้ให้รวดเร็ว คัดกรองเรื่องซ้ำซ้อน และประชาชนสามารถติดตามผลและสถานะได้ ตลอดจนเป็นระบบกลางให้กับทุกหน่วยงานนำระบบไปใช้เพื่อให้บริการประชาชนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาเอง

ในส่วนของการทำงานของสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation & Governance Institute: DIGI) ทางสถาบัน DIGI ได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือ การให้คำปรึกษา และพัฒนาต้นแบบกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big Data เกษตรกร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการใช้ข้อมูล Big Data กรมธรรม์รถยนต์ภาคสมัครใจ (พัฒนาเป็นข้อมูลเปิด เพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศภาครัฐและเอกชน) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นต้น