มองมุมใหม่“ขั้วการค้าโลก” ผลปมขัดเเย้ง“ยูเครน”

มองมุมใหม่“ขั้วการค้าโลก”    ผลปมขัดเเย้ง“ยูเครน”

"นักวิชาการ"มองความขัดแย้งยูเครน รัสเซีย ผลกระทบจำกัด เพราะยูเครนไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงรัสเซีย ระบุการคว่ำบาตรกระทบแต่ธุรกิจรายใหญ่ แนะวางแผนให้ขัดว่าจะเลือกตลาดรัสเซีย - จีน หรือสหรัฐฯ ชี้รัสเซียมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจสูงหลังจับมือจีนทำการค้า - ลงทุน

การให้สัมภาษณ์ของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ทำให้เข้าใจสถานการณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการที่สหรัฐไม่ต้องการให้รัสเซียเติบโต คือไม่ต้องการให้รัสเซียเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ และการที่รัสเซียต้องส่งทหารเข้าไปยึดแคว้นด้านตะวันออกของยูเครน 2 แคว้นได้แก่“โดเนตสก์” และ “ลูฮันสก์”ก็เป็นยุทธศาสตร์เพื่อตอบโต้การชักชวนให้ยูเครนเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)ทั้งที่รัสเซียและนาโต้เคยมีข้อตกลงที่ดีร่วมกันมาตั้งแต่ปี 1997 ที่ระบุว่านาโต้จะไม่ขยายอาณาเขตเข้ามายังดินแดนที่เป็นของสหภาพโซเวียตเดิม โดยเฉพาะการขยายเข้ามายังยูเครนซึ่งรัสเซียไม่สามารถที่จะยอมได้

รมย์ ภิรมนตรี ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนา“จับตา วิกฤติความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก” จัดโดยสภาธุรกิจไทย – รัสเซีย ว่า  ทัั้ง 2 เมืองที่รัสเซียผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรม ภาษา เป็นรัสเซียอยู่เกือบ 100% และมีการร้องเรียนปัญหาที่อยู่ภายใต้การปกครองของยูเครน รวมทั้งมีความต้องการที่จะแยกตัวออกมาเป็นอิสระรัสเซียจึงประกาศรับรองและมีการส่งกองทัพเข้าไปรักษาสันติภาพในพื้นที่

สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมองว่ารัสเซียจะไม่ทำสงครามกับยูเครนเต็มรูปแบบ แต่จะใช้สงครามแบบไฮบริดคือนอกจากยึดครองพื้นที่จะสนับสนุนฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนรัสเซียให้ได้เป็นรัฐบาลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเมืองภายในยูเครนให้มาเข้ากับทางรัสเซียได้

“ปัจจุบันรัสเซียเข้มแข็งมากขึ้นกว่าในปี 1997 มาก รัสเซียเองไม่ได้มีปัญหากับยูเครน ต้องเข้าใจว่ารัสเซียมองว่ายูเครนเป็นพี่น้อง แยกกันออกไม่ได้ แต่รัสเซียต้องการปลดแอกยูเครนให้พ้นจากการพยายามครอบงำจากตะวันตก โดยเฉพาะผลกระทบจากการเมือง และสังคมในยูเครนมีมาก โดยรัสเซียต้องการจัดการกับรัฐบาลยูเครนที่เอนเอียงไปทางตะวันตกประเด็นที่อยู่ในใจของปูตินจริงๆคือนาโต้ผิดสัญญา”

ส่วนสถานการณ์จะยืดเยื้อหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นแต่ประเด็นคือทำอย่างไรให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดซึ่งที่มีการวิเคราะห์ว่าอาจมีการล้มตายถึง 50,000 คนเป็นการวิเคราะห์ของสื่อตะวันตก ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่าจะล้มตายกันมากขนาดนั้น เพราะรัสเซียไม่ได้ต้องการทำลายและยึดครองยูเครน ในการเคลื่อนกำลังเข้าไปผนวกพื้นที่บางส่วนอาจมีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คน แต่ถ้าตะวันตกส่งอาวุธเข้ามาเสริมให้ยูเครน สงครามจะยืดเยื้อได้ โดยหากเป็นกรณีสงครามที่สหรัฐหรือพันธมิตรส่งทหารเข้าไปก็เสี่ยงที่จะสูญเสียเพราะพื้นที่นั้นรัสเซียกุมความได้เปรียบเพราะคุ้นเคยกับพื้นที่ มีเสบียงที่พร้อม กำลังทหารที่มาก และอาวุธก็ทันสมัย

ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์มาถึงขณะนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผู้นำเข้าน้ำมันเสียประโยชน์เพราะราคาน้ำมันใกล้ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วขณะที่ผู้ที่ผลิตน้ำมันได้ประโยชน์ ประเด็นนี้ผู้ได้ประโยชน์คือทั้งสหรัฐและรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายต้นๆของโลก

สำหรับกรณีที่สหรัฐฯและพันธมิตรเริ่มประกาศคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มองว่าผลกระทบจะกระทบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจข้ามชาติ โดยสหรัฐอาจจะมีมาตรการห้ามบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจกับสหรัฐ ทำธุรกรรมกับรัสเซีย สิ่งที่ควรทำคือบริษัทใหญ่ต้องตัดสินใจว่าจะค้าขายกับทางไหน จะไปขั้วรัสเซีย – จีน หรือขั้วสหรัฐ – ยุโรป โดยต้องวิเคราะห์ว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหมาะจะขายให้กับตลาดไหนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าธุรกิจไทยต้องมองรัสเซียในแง่มุมใหม่เพราะรัสเซียมีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกมากโดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศจะทำการเชื่อมต่อจีน ญี่ปุ่น ทำให้รัสเซียตะวันออก เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ชื่อเมืองสปุตนิก ติดกับวลาดิวอสตอกที่เปิดรับการลงทุน 

ปัจจุบันมีพื้นที่กว้างใหญ่มากเปิดให้จีนเข้ามาเช่นพื้นที่ทำการเกษตร และลงทุนในพื้นที่ไร่ละ 21 บาทต่อปีเท่านั้น ทำให้มีการปลูกพืช ทำเกษตร ฟาร์มปศุสัตว์ จนสามารถกลายเป็นผู้ผลิตอาหารที่แข็งแกร่ง ซึ่งประเทศไทยควรไปกระชับความร่วมมือทางเกษตร การค้าและเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการบุกตลาดสินค้าในยูเรเซียได้ด้วย

รัสเซียคุ้นเคยกับการถูกคว่ำบาตรพยายามสร้างแหล่งอาหารให้ตัวเอง จนกลายเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออก บางส่วนได้ส่งมายังประเทศไทยคืออาหารแช่แข็ง ในปีนี้จะมีการส่งอาหารทะเลออกมาขาย ขณะที่ทางการเงินเองรัสเซียก็พยายามที่จะลดการใช้เงินดอลลาร์ ใช้เงินหยวน ยูโร หรือสกุลอื่นและเก็บเป็นรูปทองคำ โดยสหรัฐเองก็ไม่กล้าคว่ำบาตรทางการเงินรัสเซียเต็มที่เพราะผลกระทบอยู่กับยุโรปที่ซื้อขายก๊าซจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก

“สภาธุรกิจไทย – รัสเซีย จะต้องมองตลาดใหม่ รัสเซียมีความพร้อมในการผลิตสินค้าเกษตร และได้ส่งหมูแช่แข็งมาขายยังไทยแล้ว ภายในปีนี้อาหารทะเลจากรัสเซียจะทะลักเข้ามาในไทยได้ ถ้ากฎระเบียบเอื้ออำนวย ในด้านการเกษตรไทยควรไปจับมือกับรัสเซียในเรื่องนี้ไว้ก่อน อย่าไปทำแข่งเพราะต้นทุนเขาถูกกว่าเรามาก”

สำหรับความสัมพันธ์ในเอเชียกับรัสเซียมีมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันในอาเซียน แม้ว่าปูตินจะไปเยือนเวียดนามบ่อยและรัสเซียมีการลงทุนในเวียดนามเพิ่ม แต่รัสเซียก็ยังให้ความสัมพันธ์กับไทยในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาค และรัสเซียเห็นไทยเป็นเพื่อน การสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซีย ควบคู่กับการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนจะทำให้ไทยมีโอกาสรับนักลงทุนจากรัสเซียที่จะเข้ามาขยายการลงทุนได้ และสามารถขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคยูเรเซียได้ด้วย

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่รัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวไทยเป็นอันดับต้นๆ และลดจำนวนลงมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุต้องยอมรับว่าข้อจำกัดการเดินทางจากโควิด-19 และค่าเงินรูเบิลของรัสเซียที่ลดลงประมาณ 50% ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง โดยหากอยากให้การท่องเที่ยวรัสเซียเพิ่มกลับมาได้ ต้องมีการจัดการการเข้าเมืองให้ดี ต้องมีตรวจโรคที่โปร่งใส เพราะที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียพอสมควรในเรื่องนี้