ธุรกิจไทยจับตา“รัสเซีย-ยูเครน” ขัดแย้งนานฉุดส่งออก-ท่องเที่ยว

ธุรกิจไทยจับตา“รัสเซีย-ยูเครน” ขัดแย้งนานฉุดส่งออก-ท่องเที่ยว

ธุรกิจไทยจับตาวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ‘ซีพี’ ชี้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ห่วงขัดแย้งนานกระทบท่องเที่ยว สรท.เตรียมตั้งวอร์รูมประเมินสถานการณ์ส่งออก ชี้ลากยาวกระทบคู่ค้าในยุโรป “ทูตพาณิชย์” จับเกาะติดคว่ำบาตร ห่วงประเด็นห้ามใช้เงินรูเบิล

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนำมาสู่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทไทยหลายแห่งเข้าไปทำธุรกิจในรัสเซียและกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

สำหรับตลาดรัสเซียถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของผู้ส่งออกไทย ในขณะที่มีบริษัทไทยหลายรายไปลงทุนในรัสเซีย เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ลงทุนผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสุกร ในขณะที่บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่รัสเซียผ่านเข้าซื้อหุ้นบริษัท TUMD Luxembourg Sàrl

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เรื่องความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และนาโต้ ถือว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าในวิกฤติก็ยังเป็นโอกาสในกรณีที่เกิดสงคราม

แต่จริงๆ แล้วภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยเองยังถือว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นมากในฝั่งยุโรป ส่วนสหรัฐแม้จะอยู่ไกลแต่ก็น่าจะมีผลกระทบบ้าง

“ผมคิดว่าถ้าเราเดาใจรัสเซียนี่จะเป็นจังหวะเวลา เป็นไทม์มิ่งที่เหมาะสมที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับเหล่าประเทศยุโรปและพยายามไม่ให้ยูเครนเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง และผมคิดว่าคงไม่มีใครตั้งใจให้ไปถึงการเกิดภาวะสงคราม ดังนั้นในตอนนี้ เราต้องมองในแง่บวกไว้ก่อน” นายศุภชัย กล่าว 

ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเห็นสัญญาณไปในทางบวกในไตรมาส 3 ปี 2023 ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญโดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะเป็นโอกาสของแต่ละธุรกิจที่จะเตรียมตัวและตั้งตัวเพื่อไปสู่ธุรกิจหลังโควิด

ขัดแย้งนานกระทบธุรกิจไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้อยู่ที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์หลังจากที่หลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างนักธุรกิจไทยและรัสเซียมีขั้นตอนและต้นทุนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น เพราะนักธุรกิจไทยและรัสเซียอาจทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารในรัสเซียไม่ได้และทำให้ต้องดำเนินการผ่านธนาคารในประเทศอื่น

สำหรับรัสเซียถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยจัดอยู่ในกลุ่มตลาดใหม่ รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 1.5 ล้านคนต่อปีในช่วงโควิด-19 และเป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่ในไทยเป็นระยะเวลานานมีการใช้จ่ายในเกณฑ์ที่สูงหากมีความขัดแย้งที่รุนแรงบานปลายจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

นอกจากนี้ ไทยกับรัสเซียมีการตั้งเป้าหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศไว้ที่ 3.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1 หมื่นล้านดอลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ 

โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียเป็นมูลค่า 1,027 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 41.68% โดยมีสินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร เม็ดพลาสติก และผลไม้แปรรูป

ส่วนรัสเซียส่งออกสินค้ามายังไทยเป็นมูลค่า 1,278 ดอลลาร์ โดยมีสินค้า 5 อันดับที่รัสเซียส่งมาไทย ได้แก่ น้ำมันดิบ ปุ๋ย เหล็ก และสินค้าแร่ เป็นต้น ส่วนประเทศยูเครนนั้นไทยยังไม่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจกับไทยมากนัก โดยในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าไปยูเครนเป็นมูลค่าเพียง 134.79 ดอลลาร์

สรท.ตั้งวอร์รูมดูส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่ชาติตะวันออกและสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย มองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก โดยเฉพาะประเด็นพลังงานที่รัสเซียเป็นประเทศสำคัญในขนส่งพลังงานให้กลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งอาจทำให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ไม่น่าจะแกว่งตัวไปมากกว่าปัจจุบันเพราะยังมีตัวช่วย คือ อิหร่านที่ส่งออกน้ำมันเพิ่มได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องและต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ มาตรการตอบโต้ของรัสเซียจะใช้รูปแบบอย่างไร ซึ่งรัสเซียก็เป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งในโลกไม่อยู่นิ่งเฉยแน่ ผลกระทบที่ตามมาคือกระทบต่อตลาดสำคัญในยุโรป ซึ่งไทยส่งออกไปยุโรป 8%

“ต้องจับตาจากนี้ไปอีก 1 เดือนสถานการณ์จะเป็นอย่างไรเพราะตัวแปรมีมาก และหากรุนแรงย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเมื่อถึงขั้นรุนแรง และ สรท.จะตั้งวอร์รูมเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะว่าจะกระทบส่งออกของไทยมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ สรท.กำลังทำข้อมูลประเมินว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อเกิน 1 เดือน ถึงสิ้นปี ผลกระทบเป็นอย่างไร และหากปะทะรุนแรงแต่ละอุตสาหกรรมไหนจะกระทบแค่ไหน“ นายชัยชาญ กล่าว

ติดตามผลกระทบท่าเรือ

นายชัยชาญ กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าของไทย โดยถ้าเดือน มี.ค.นี้ยังไม่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง และท่าเรือยังเปิดให้บริการตามปกติ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังรัสเซียมีทั้งรถยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางอาหาร เป็นต้น 

ทั้งนี้ มั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกจะเติบโตได้ 5% แน่นอนอย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อและไม่บรรลุข้อตกลงที่จะยุติสถานการณ์นี้ ประกอบกับหากรัสเซียออกมาตรการตอบโต้จะส่งผลกระทบในระยะยาวแน่ แม้ไม่กระทบโดยตรงแต่เป็นการกระทบโดยอ้อมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่ติดต่อกับยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทย มีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนและผู้ประกอบการในกลุ่มชาติยุโรป

จับตาห้ามใช้เงินรูเบิลหรือไม่

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย กล่าวว่า วันนี้ยังไม่กระทบการส่งออก-นำข้าวของไทย ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบข้อมูลการคว่ำบาตรของชาติยุโรปและสหรัฐในเบื้องต้นเป็นการตอบโต้กรณีรัสเซียประกาศรับรองเอกราชของแคว้นโดเนสต์-ลูฮันสก์ โดยการคว่ำบาตรใช้สำหรับตัวบุคคลที่สนับสนุนรัสเซียบุกยูเครน เช่น อายัดทรัพย์สินของบุคคล หรือ บางตระกูลของชาวรัสเซีย การห้ามเข้าประเทศ ซึ่งหากจะใช้การคว่ำบาตรที่รุนแรงจะขึ้นกับสถานการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครน

ขณะนี้ยังไม่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ ธุรกรรมทางการเงิน การส่งออก นำเข้า โดยไทยยังส่งสินค้าไปได้ตามปกติ และจะกระทบก็ต่อเมื่อมีการตัดการใช้เงินรูเบิลของรัสเซีย โดยไม่ให้แลกเปลี่ยนเงินเพื่อชำระสินค้าได้ ส่วนภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในรัสเซียยังไม่ได้มาขอความช่วยเหลือหรือแสดงความกังวลจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นระยะว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบการส่งออกไทยหรือไม่