สินิตย์ ดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ตอบโจทย์เทรนด์การค้าโลก

สินิตย์ ดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ตอบโจทย์เทรนด์การค้าโลก

“สินิตย์”สั่งจีไอทีติวเข้มผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล การตรวจสอบย้อนกลับ หลังแบรนด์ทั่วโลกให้ความสำคัญ ด้าน จีไอทีรับลูก จับมือ RJC จัดอบรมออนไลน์ กำหนดวันที่ 9 มี.ค.นี้ ฟรี

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที ผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันนี้ บริษัทและแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำของโลก ทั้งในยุโรป และอเมริกา ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และเริ่มมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบสำแดงและการติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี โดยใช้เทคโนโลยี Block chain เพื่อสอบกลับถึงแหล่งที่มา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ของธุรกิจให้สอดรับกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

สินิตย์ ดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ตอบโจทย์เทรนด์การค้าโลก

“ขอให้จีไอทีกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีความตื่นตัว และเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปของอัญมณี ของพลอย เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ถ้าไทยช้า หรือตามไม่ทัน ก็จะเสียโอกาสได้ "นายสินิตย์ กล่าว

ทั้งนี้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าสำคัญ ที่สร้างรายได้จากการส่งออกเป็นลำดับที่ 5 ปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 194,651 ล้านบาท และไทยยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 17 และส่งออกพลอยสีเป็นอันดับ 3 ของโลก

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการจีไอที กล่าวว่า จีไอทีได้ร่วมกับ Responsible Jewellery Council หรือ RJC กำหนดจัดอบรมออนไลน์ในหัวข้อ “การดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (Responsible Jewellery Council : RJC)” ในวันที่ 9 มี.ค.2565 เวลา 13.00–16.00 น. ผ่านระบบ Zoom โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ที่นายสินิตย์ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

โดยในการจัดอบรมครั้งนี้ มีวิทยากรมาร่วมถ่ายทอดความรู้ และความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล เช่น Ms.Iris Van der Veken , Executive Director of RJC , นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการ จีไอที ด้านเทคนิค ตัวแทนบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายฝึกอบม โทร 02 634 4999 ต่อ 301-305 และ 311-313 หรือ www.git.or.th