แกนเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนจังหวะก้าว “อาเซียน”แต้มต่อการค้า-ลงทุน

แกนเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนจังหวะก้าว   “อาเซียน”แต้มต่อการค้า-ลงทุน

การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกมีผลต่อการค้า และการลงทุนในระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนด้วยเช่นกัน บทความนี้จะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และผลที่จำเป็นแต้มต่อแห่งภูมิภาค

การเคลื่อนย้ายของแกนเศรษฐกิจโลกกำลังหันออกจากสิ่งที่โลกมองว่าตะวันตกเป็นศูนย์กลางมายังตะวันออก ในปีค.ศ.2020 พบว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 4 ใน 10 แห่งอยู่ในเอเชียคือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลี ในอนาคตอาจเกิดภาวะที่โลกไม่มีประเทศใดเป็นผู้นำชัดเจน เพราะพลังโลกาภิวัตน์จะทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันและกัน

แม้อานิสงส์ที่ไทยจะได้รับจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยังต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพ และการแข่งขันกับประเทศอาเซียนด้วยกัน แต่เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์โลก พบว่า ไทยได้แต้มต่อในฐานะ “ประตูเชื่อมยุทธศาสตร์โลก”

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) แห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ริเริ่มโดยประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เมื่อปี 2013 เพื่อเป็นกลจักรสำคัญเชื่อมจีนกับ 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป ทั้งนี้ จีนมีเป้าหมายลงทุนสร้างถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊าหรือ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งมีความเจริญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม และเป็นจุดบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ก็มีนโยบายเชื่อมการลงทุนกับพื้นที่อีอีซีเช่นกัน

ความริเริ่มลงทุนเพื่ออนาคต (Asia-Japan Investing for the Future Initiative) ของญี่ปุ่น เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการร่วมลงทุนด้านนวัตกรรมกับกลุ่มประเทศอาเซียนให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาให้อาเซียนเป็นห่วงโซ่อุปทานโลก ตลอดจนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ปัจจุบันญี่ปุ่น มีโครงการความร่วมมือกับไทยหลายโครงการเช่นกัน

นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ของเกาหลี ริเริ่มโดย ประธานาธิบดี มุน แชอิน เมื่อปี 2017 เพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าและการลงทุนสำคัญ สำหรับเกาหลี นับเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 10 และนักลงทุนอันดับ 12 ของไทย โดยที่ประสบการณ์หลากหลายอุตสาหกรรมของเกาหลี เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และสอดคล้องกับความต้องการพัฒนาอีอีซีของไทย

ปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) ของอินเดีย มุ่งเน้นขยายขอบเขตเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอาเซียนให้มากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ 8 รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้แก่ อรุณาจัลประเทศ สิกขิม อัสสัม เมฆาลัย ตรีปุระ มณีปุร์ นากาแลนด์และมิโซรัม ซึ่งมีรัฐมณีปุร์เป็นประตูเชื่อมโยงมายังอาเซียน ผ่านเมียนมาเข้าสู่ไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตามเส้นทาง “ทางหลวงไตรภาคี” อินเดีย-เมียนมา-ไทย ระยะทาง 3,200 กิโลเมตร ตลอดจนเชื่อมโยงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือกลุ่ม CLMVT

ความริเริ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Greater Eurasian Partnership) ของรัสเซีย เป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ที่ให้ความสำคัญเอเชียเพิ่มขึ้น ส่งเสริมความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับอินเดียและจีนตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ความมั่นคง ตลอดจนเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของไทยที่จะใช้โมเดลนี้ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดภายใน 5 ปี

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ เน้นการมีส่วนร่วมในระดับทวิภาคีกับญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และจีนไทเป (ไต้หวัน) ทั้งนี้ กระแสการค้าจะมุ่งสู่พื้นที่อินโด-แปซิฟิก อาทิ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ซึ่งสหรัฐ มุ่งพัฒนากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในสาขาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และเศรษฐกิจดิจิทัล

 กล่าวโดยสรุป อาเซียนตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาค และไทยเป็นศูนย์กลางของกลุ่ม CLMVT จึงมีแนวโน้มที่ไทยจะเป็นคำตอบศูนย์กลางความเชื่อมโยง จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเชื่อมโยงอีอีซีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ากับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจโลกดังกล่าว เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และนำไปสู่การขยายความร่วมมือในทุกมิติที่มากขึ้นต่อไป

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์