สสว. ดันมาตรการ Thai SME-GP ปี 65 กระจายโอกาสเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

สสว. ดันมาตรการ Thai SME-GP ปี 65 กระจายโอกาสเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ขับเคลื่อนมาตรการ THAI SME-GP ฉบับปรับปรุงปี 65 มุ่งลดอุปสรรคและสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดภาครัฐที่เป็นธรรมและทั่วถึง

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลาง ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ตามหนังสือเวียนกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค.(กวจ) 0405.2/ว 78 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 (ว 78) 

และเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง จัดประชุมเพื่อเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) ฉบับปรับปรุงปี 2565 โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออฟไลน์ และ ออนไลน์ รวมกว่า 3,000 คน

การประชุมได้รับความสนใจจากเอสเอ็มอี เกินความคาดหมาย ทีมผู้บริหารของกรมบัญชีกลางนำโดยนายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และ สสว. ร่วมรับฟังและให้ข้อมูลการปรับปรุงมาตรการ THAI SME-GP และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น 

ซึ่งการปรับปรุงในครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาและลดอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีคัดเลือก ทั้งเรื่องการสมยอมราคา สร้างความเป็นธรรม และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้คงสิทธิประโยชน์กับเอสเอ็มอี ด้วยแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 10 ในการเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding ที่ใช้เกณฑ์ราคา และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เอสเอ็มอีที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) ด้วยแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 15 

ขณะเดียวกันยังกระจายประโยชน์ไปยังเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ให้เข้าถึงงานที่มีวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงจากเอสเอ็มอีเป็นลำดับแรก

ผอ.สสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ความสำคัญกับวิธีเฉพาะเจาะจงในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ที่กำหนดเป็นวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในครั้งนี้ เนื่องจากในรอบปี 2564 หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีนี้กว่า 3 แสนล้านบาท จึงนับเป็นการกระจายโอกาสสู่กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กๆ ได้อย่างดี 

ส่วนประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก คือ กรณียกเว้นการกำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 โดยผู้ประกอบการเห็นว่า จะเป็นการลดโอกาสเอสเอ็มอีในการเข้าถึงตลาดภาครัฐ เพราะจะทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่สนใจจะซื้อสินค้าหรือบริการจากเอสเอ็มอี 

กรณีนี้กรมบัญชีกลางให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการจากเอสเอ็มอีร้อยละ 44.32 คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยว่า 5.5 แสนล้านบาทอยู่แล้ว ส่วนการยกเว้นให้หน่วยงานภาครัฐไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีคัดเลือกจากเอสเอ็มอี ในพื้นที่ที่ขึ้นบัญชีรายชื่อและรายการสินค้ากับ สสว. ในระบบ THAI SME-GP ไม่น้อยกว่า 6 ราย ก็เพื่อแก้ปัญหาดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติฯ ซึ่งเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมากรมบัญชีกลางได้จัดทำคู่มือปฏิบัติฯ และเผยแพร่ไปยังหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง และ www.thaismegp.com ของ สสว. เรียบร้อยแล้ว 

ขณะเดียวกัน จะมีการติดตามประเมินผลแนวทางปฏิบัติฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2565 หรือ ว 78 อย่างใกล้ชิดเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อผลในการพิจารณาปรับปรุงสิทธิประโยชน์หรือขยายโอกาสให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการให้มากที่สุดในอนาคต  

สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) จะต้องมีคุณสมบัติเป็นเอสเอ็มอีตามนิยามที่ สสว. กำหนด คือ ถ้าเป็นผู้ประกอบการในภาคการผลิตต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ถ้าอยู่ในภาคการค้า/บริการ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี โดยจะต้องขึ้นทะเบียนในเว็บไซต์ www.thaismegp.com และได้รับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเสนองานเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดีระบบ THAI SME-GP ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญของเอสเอ็มอีในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 124,500 ราย มีรายการสินค้าและบริการรวม 1,009,000 รายการ ในรอบปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม 2564) 

ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนฯ ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐ (วิธีเฉพาะเจาะจง วิธีการคัดเลือก และวิธี e-bidding) คิดเป็นมูลค่ารวม 551,365.50 ล้านบาท กลุ่มงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูง เช่น งานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างอาคาร งานรับเหมาก่อสร้าง ซ่อมแซม บำรุงรักษา ถนน/อาคาร วัสดุที่ใช้ในโรงพยาบาล และวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า-คอมพิวเตอร์ วัสดุสำนักงาน ฯลฯ 

หน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างมากที่สุดลำดับต้นๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ฯลฯ ส่วนในปี 2565 นี้ สสว. กำหนดเป้าหมายการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในการจัดซื้อจัดจ้างผ่านกลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของประเทศ อาทิ ธุรกิจเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ธุรกิจการบินและชิ้นส่วนอากาศยานเป็นต้น