บลจ.ไทยพาณิชย์ ชูธีมยานยนต์ไฟฟ้า เปิดขาย “SCBEV” IPO 21-25 ก.พ. นี้ 

บลจ.ไทยพาณิชย์ ชูธีมยานยนต์ไฟฟ้า เปิดขาย “SCBEV” IPO 21-25 ก.พ. นี้ 

บลจ.ไทยพาณิชย์ เห็นโอกาสจากธีมยานยนต์ไฟฟ้า เปิดขาย “SCBEV” IPO 21-25 ก.พ. นี้  มั่นใจพร้อมเติบโตไปกับเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า บริษัท เชื่อมั่นว่าปัจจุบันการลงทุนในธีมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicles รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีแนวโน้มจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจโลกในระยะยาวมากกว่า 10 ปี  

ล่าสุดจึงได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Electric Vehicles and Future Mobility (SCBEV) เริ่มเสนอขายครั้งแรก 21-25 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท ทั้งนี้ ได้เปิดให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน 3 ชนิด ได้แก่ 1) ชนิดสะสมมูลค่า – SCBEV(A) 2) ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ – SCBEV(E) และ 3) ชนิดกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว – SCBEV(SSF) โดยสามารถซื้อได้ในทุกช่องทางรวมถึงผู้สนับสนุนการขายทุกราย

บลจ.ไทยพาณิชย์ ชูธีมยานยนต์ไฟฟ้า เปิดขาย “SCBEV” IPO 21-25 ก.พ. นี้ 

 

รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) หรือที่คุ้นหูกับคำว่า EVคือ รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไปในการขับเคลื่อน ซึ่งรวมถึง  1) Hybrid Vehicles (HV) รถ EV รุ่นแรกๆ ที่ใช้เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนร่วมกัน 2) Plug-In Hybrid Electric Vehicles (PHEV) รถยนต์ที่อัดประจุไฟฟ้าจากภายนอกมาเก็บในแบตเตอรี่ วิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ไกลมากขึ้น

3) Battery Electric Vehicles (BEV) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และไม่มีเครื่องยนต์ และ 4) Fuel Cell Electric Vehicles (FCEV) ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน โดยใช้พลังงานที่ผลิตจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) จากการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ไม่มีการปล่อย CO2 มีเพียงการปล่อยน้ำเท่านั้น ซึ่งเหล่านี้โดยเราจะเรียกรวมกันว่า รถยนต์ไฟฟ้า 

รถยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2040 ยอดขายรถยนต์ EV จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด และมากกว่า 33% ของจำนวนรถยนต์ที่ใช้ทั่วโลกคือรถยนต์ไฟฟ้า และในปี 2025 ประเทศจีนจะมีสัดส่วนของยอดขาย EV เกือบ 50% จากทั่วโลก เนื่องจากสามารถขับได้ระยะทางเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้แพลตฟอร์ม Ride Sharing อาจส่งผลให้การใช้รถยนต์ EV มีต้นทุนต่ำลง และสามารถแข่งขันได้หากเทียบรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงปกติ (Fossil) นอกจากนี้ การใช้รถยนต์ EV ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ ทำให้หลายประเทศได้เสนอมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV มากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 18 รายจาก 20 รายมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทเอกชนที่ต้องการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับระบบการขนส่งสินค้าของบริษัทมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน นอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็มีโอกาสที่จะเติบโตควบคู่กันไปด้วย โดยจากปี 2015 ถึง 2030 นักวิเคราะห์เชื่อว่าความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1,829% รวมไปถึงรายได้จากแร่ต่างๆ เช่น ลิเธียม ทองแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” 

กองทุน SCBEV เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ กองทุน Krane Shares Electric Vehicles & Future Mobility ETF (กองทุนหลัก) เป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) บริหารโดย Krane Funds Advisors, LLC และลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ NYSE Arca ประเทศสหรัฐ มุ่งหวังให้ผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของดัชนีอ้างอิง ซึ่งปัจจุบันคือ Bloomberg Electric Vehicles Index เป็นดัชนีที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม EV Ecosystem ได้ดี โดยกระจายการลงทุนครอบคลุมประเทศหลักๆ ที่มีแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ เช่น จีน สหรัฐ และเยอรมนี เป็นต้น ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ในสกุลเงินต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่เทียบกับสกุลเงินบาท ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับกองทุนหลักจะลงทุนในบริษัทผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน, เซ็นเซอร์, ลิเธียม และทองแดง เป็นต้น โดยเบื้องต้นได้ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยานยนต์แห่งอนาคต เช่น Tesla - บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด สัญชาติอเมริกัน , Nidec - ผู้ผลิตและจำหน่ายมอเตอร์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น และ Analog Devices – บริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติอเมริกัน นอกจากนี้ ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนหลักยังมี Track Record ที่ดีนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (ที่มา : Fund Factsheet ของกองทุนหลัก ณ เดือนธันวาคม 2564)

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์