ราคาสินค้าซ้ำเติมเศรษฐกิจเปิด“อาหาร-ผักสด-ข้าวสาร-ไข่ไก่แพงไม่หยุด

ราคาสินค้าซ้ำเติมเศรษฐกิจเปิด“อาหาร-ผักสด-ข้าวสาร-ไข่ไก่แพงไม่หยุด

ผลสำรวจราคาอาหารและผักสดในท้องตลาดปัจจุบันพบราคาสินค้าหลายรายการปรับตัวสูงขึ้นทั้งไข่เป็ด ผักชี ผักกวางตุ้ง ขณะที่ราคามะนาวอ่อนตัวแล้ว จากปัจจัยสภาพอากาศเย็นลง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการร้านอาหาร แจ้งว่า ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสดราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาข้าวสารบรรจุถุง และ ราคาไข่ไก่ มีการปรับขึ้นราคาเพิ่มขึ้นมาก โดยข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม(กก.) จากเดือนมี.ค.ที่เคยจำหน่ายถุงละ 120 บาท ปรับขึ้นมาเฉลี่ยถุงละ 150 บาท

ไข่ไก่ มีการขึ้นมา 2 รอบ โดยขณะนี้ไข่ไก่เบอร์ 2 (30 ฟอง) ราคาขึ้นเป็นแผงละ 130 บาท ทยอยปรับขึ้นจากเดือนมี.ค.ที่เคยจำหน่ายแผงละ 120 บาท ทำให้ต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จปรับขึ้นมาก ยังไม่รวมราคาผักสด มะนาว ที่มีการปรับราคาไปก่อนหน้านี้ จากภาวะอากาศร้อนและแล้ง จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแล

ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาขายปลีกสินค้าอาหารสดในกรุงเทพมหานครว่า ไข่เป็ดราคาสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลกระทบต่ออัตราให้ไข่ ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเกาตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยหยุดนำเป็ดเข้าเลี้ยงจากภาวะต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

คะน้า-ผักชี-ต้นหอมราคาสูงขึ้น 

ขณะที่ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชี และต้นหอม ราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนและมีพายุฝนในพื้นที่เพาะปลูกส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม ราคามะนาวพบว่าราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงทรงตัว 

นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อน 2-3 เดือน ที่ผ่านมา อากาศร้อนจัดมากอุณหภูมิสูงระดับ 40-44 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้แม่ไก่เครียด ไข่ลดลงและฟองมีขนาดเล็ก ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องหาทางช่วยระบายความร้อนให้อากาศในโรงเรือนเย็นลงเพื่อรักษาแม่ไก่ไว้ ด้วยการเปิดพัดลมและพ่นสเปรย์น้ำ ขณะที่หลายฟาร์มขาดน้ำ ต้องซื้อน้ำดื่มและซื้อน้ำมาทำความเย็นในระบบอีแว๊ปเพื่อช่วยให้สัตว์อยู่สบายขึ้น

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นส่งผลให้หลายฟาร์มประสบปัญหาขาดทุนเพิ่มขี้น เพราะต้นทุนสูงกว่าราคาขาย แม้ว่าราคาประกาศของเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 สหกรณ์ จะอยู่ที่ 3.80 บาทต่อฟอง แต่เกษตรกรไม่สามารถขายได้ตามราคาประกาศ เพราะไข่ฟองเล็ก ซึ่งเป็นผลจากอากาศร้อนจัด ทำให้หลายฟาร์มต้องหยุดนำแม่ไก่เข้าเลี้ยง รอดูระยะเวลาที่เหมาะสมให้ฝนตก มีน้ำเพียงพอ เพื่อช่วยให้การเลี้ยงมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นโดยต้นทุนไม่สูงเกินไป

อากาศร้อนทำผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้นทุนพุ่ง

“ช่วงร้อนแล้งที่ผ่านมา แม้ฟาร์มไก่ไข่ต้องแบกภาระต้นทุนทั้งค่าน้ำและค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมากกว่าปกติหลายเท่า แต่ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาแม่ไก่และผลผลิตไว้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดน้ำ เกษตรกรต้องลงทุนซื้อน้ำดื่มมาใช้ในฟาร์ม ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันต้นทุนทั้งสิ้น ขณะที่บางรายขาดทุนจนต้องเลิกเลี้ยงไปแล้ว”

ทั้งนี้ แม้ต้นทุนการผลิตไข่ยังขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่ฟาร์มก็ยังคงดูแลแม่ไก่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ไข่ไก่มีปริมาณเพียงพอต่อการผู้บริโภค เพราะถือเป็นหน้าที่ของเกษตรกรที่ดี ผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวลว่าไข่จะขาดแคลน ขณะที่ราคาไข่ไก่ปรับขึ้น-ลง ก็เป็นไปตามอุปสงค์อุปทาน

ทั้งนี้ ไข่ไก่ เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพดีและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด เมนูไข่ยังเป็นอาหารยอดนิยมของคนทุกเพศทุกวัย ทั้งไข่เจียว ไข่ดาว ไข่พะโล้ ไข่ต้ม ฯลฯ ส่วนช่วงโรงเรียนเปิดเทอมจะมีความต้องการไข่เบอร์เล็กมากขึ้น ตามความต้องการของร้านอาหารในโรงเรียน

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ราคาและปริมาณปุ๋ย 

โดยขณะนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกกำลังอยู่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด โดยหลังจากนี้จะเริ่มใช้ปุ๋ยในการบำรุงลำต้นสำหรับผลผลิตรอบต่อไป ซึ่งจากการหารือสหกรณ์ทั้ง 10 แห่ง ทราบว่ามิได้มีปัญหาด้านปริมาณและราคาปุ๋ยแต่อย่างใด

ราคาปุ๋ยทั่วประเทศราคาทรงตัว-ลดลง

สถานการณ์ราคาปุ๋ยในภาพรวมทั่วประเทศส่วนใหญ่ทรวงตัวและปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (เม.ย. 67) โดยราคาเฉลี่ยภาคกลาง ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ราคา 830 บาท/กระสอบ ลดลง 1% ปุ๋ยฟอสเฟต (18-46-0) ราคา 1,150 บาท/กระสอบ เท่ากับเดือนก่อน ปุ๋ยโพแทส (0-0-60) ราคา 870 บาท/กระสอบ ลดลง 8% ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ราคา 520 บาท/กระสอบ ลดลง 2% สำหรับปริมาณสต็อกปุ๋ย ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 อยู่ที่ 1.53 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ไม่มีปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอย่างแน่นอน

โครงการลดราคาปุ๋ยเพื่อเกษตรกรนี้ ที่กรมการค้าภายในร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และผู้ผลิต/ผู้นำเข้าร่วมกันจัดขึ้นในเฟสที่สอง (ส่วนต่อขยาย) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 2567 มีปริมาณปุ๋ยเข้าร่วมโครงการ 5.1 ล้านกระสอบ 69 สูตร ซึ่งครอบคลุมการปลูกพืชทุกชนิด