อีอีซี วุ่น! กรรมการ งง ชงวาระ ตั้งบ.ลูกบริหารสัญญา“อู่ตะเภา”

อีอีซี วุ่น!  กรรมการ งง ชงวาระ  ตั้งบ.ลูกบริหารสัญญา“อู่ตะเภา”

“สุพัฒนพงษ์” ประชุม ติดตามความคืบหน้าโครงการ ‘อีอีซี’ กรรมการหลายท่าน งง วาระหารือ สกพอ.ชงตั้งบริษัทลูก บริหารสัญญาอู่ตะเภา ดูแลการพัฒนาเมืองการบิน 6 พันไร่ ทั้งที่ มีคณะกรรมการบริหารสัญญา อยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ในวันนี้ (21 ก.พ.) ซึ่งจะติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมถึงจะมีการพิจารณาแผนงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2565

ทั้งนี้ สกพอ.จะเสนอตั้งบริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยมีสกพอ.ถือหุ้น 99.99% ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะได้รับสัญญาจ้างจาก สกพอ.ในการบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ สกพอ.เป็นคู่สัญญา ซึ่งจะได้รับค่าจ้างในระหว่างปี 2567-2569 วงเงิน 30 ล้านบาท 

 

รวมทั้งบริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด จะได้สิทธิเช้าที่ดินราชพัสดุพื้นที่พัฒนาสนามบิน(ATZ) ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกจาก สกพอ.ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้เกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุที่ สกพอ.ใช้อำนาจกรมธนารักษ์ หรือที่ดินราชพัสดุที่หน่วยงานอื่นครอบครองหรือใช้ประโยชน์ และ สกพอ.ได้รับความยินยอมจากหน่วยงานนั้นในการเข้ามาดูแล

นอกจากนี้ บริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด จะได้รับมอบหมายจาก สกพอ.ในการบริหารสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดอายุสัญญา และสามารถลงทุนหรือร่วมลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน

 

 

รายงานข่าว แจ้งว่า โครงการเมืองการบิน ได้มีการลงนามไปเรียบร้อยแล้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่วาระการตั้งบริษัทลูก ที่สอดใส่เข้ามา ทำให้ กรรมการหลายท่าน รวมทั้งนายสุพัฒนพงษ์ งง กับวาระ ในการตั้งบริษัทลูก เพราะ ต้อง พิจารณารายละเอียด ทีโออาร์ ที่เอกชนชนะประมูล ให้รอบคอบ และไม่เกิดความซ้ำซ้อน 

เนื่องจากว่า ในทีโออาร์ ไม่ได้ ระบุว่าจะมีการตั้งบริษัทลูกมาบริหารโครงการ ดังนั้น หากมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาถือว่าอาจเข้าข่าย ผิดทีโออาร์ 

นอกจากนั้น การบริหารโครงการ มีคณะกรรมการบริหารสัญญา ดูแลอยู่แล้ว เหมือนกับโครงการอีอีซีอื่นๆเช่น รถไฟความเร็วสูงสนามบิน และ ท่าเรือ ก็อยู่ในรูปคณะกรรมการบริหารสัญญา 

‘แปลกใจมากที่มีการใส่วาระ ตั้งบริษัท ยัดใส่เข้ามา  เพื่อให้ใครบางคน มานั่งบริหาร  ในทีโออาร์ ไม่ได้ระบุและมีคณะกรรมการบริหารสัญญา ก็มีอยู่แล้ว กรรมการหลายคน เห็นขึง งง ว่า สกพอ.คิดอะไรแปลกๆ’ 

ทั้งนี้ สกพอ.ได้ลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 โดยเอกชนคู่สัญญาได้สิทธิการบริหารพื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภา6,000 ไร่ เพื่อเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองทัพเรือใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตสนามบินและยินยอมให้ สกพอ.ดำเนินการร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

 

รวมทั้งเมื่อผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม กบอ.ครั้งนี้แล้วจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเดือน มี.ค.2565 และหากได้รับอนุมัติ สกพอ.จะดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว

 

ด้าน สำนัก สกพอ.อ้างว่า มีฐานะเป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 กำหนดหน้าที่และอำนาจของ สกพอ.ครอบคลุมถึงการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอีอีซี รวมทั้งสามารถตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอีอีซี

 

นอกจากนี้ กบอ.จะพิจารณาข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ที่จะเสนอให้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน “ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนลแอร์โชว์” (Thailand International Air Show) เป็นครั้งแรก ที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกำหนดกรอบเวลาทุก2 ปี และจะเสนอให้จัดครั้งแรกในปี 2568 ภายใต้แนวคิด Future of Aerospace โดยจะเริ่มเปิดตัวงานในปี 2566 เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเตรียมตัวเข้าร่วมงาน 2 ปี

 

นอกจากนี้ การจัดงานดังกล่าวจะควบคู่กับการจัดงานประชุมเชิงวิชาการ งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และการจัดงานในปี 2570 จะเป็นการจัดงานที่เต็มรูปแบบ

 

สำหรับโครงการดังกล่าวทีเส็บริเริ่มเตรียมงานมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดแสดง การค้าด้านอากาศยาน และเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของไทยสู่ตลาดโลก 

 

รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมไทยในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานของโลก โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ระบุว่าในปี 2561 ไทยส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์อากาศยานมากถึง3,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 1 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2570 จะมีการจัดงานในโครงการ Aviation & LOG-IN Week ทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่องจำนวน 28 งานในอีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล แอร์โชว์ในช่วงเวลานั้น ทีเส็บคาดว่าจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้มากถึง 8,200 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ทีเส็บและ สกพอ.ได้หารือถึงการผลักดันโครงการดังกล่าวมาต่อเนื่อง และประเมินว่าการจัดงานแอร์โชว์จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการประกาศศักยภาพอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว แต่สามารถเป็น Aviation Hub หรือศูนย์กลางด้านธุรกิจการบินอย่างครบวงจร