ส่องหุ้นดาวเด่นรับ “แพ็กเกจอีวี” ตัวไหนน่าลงทุน?

ส่องหุ้นดาวเด่นรับ “แพ็กเกจอีวี” ตัวไหนน่าลงทุน?

หลังรอมาสักพักในที่สุด ครม. เคาะ “แพ็กเกจอีวี” ออกมาเป็นที่เรียบร้อยในการประชุมเมื่อวันอังคาร (15 ก.พ.) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน แก้ไขปัญหามลพิษและฝุ่นละอองรับกับเทรนด์โลก โดยรัฐบาลได้มีการประกาศนโยบาย 30@30 ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ในประเทศให้ได้ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 เพื่อยกระดับประเทศไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปถึงจุดนั้น คือ การจูงใจให้คนไทยหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ มากขึ้น พร้อมดึงดูดค่ายรถจากทั่วโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและผลิตเพื่อการส่งออก จึงเป็นที่มาของการทำมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

หากดูรายละเอียดของแพ็กเกจที่ประกาศออกมา มีทั้งมาตรการทางภาษี ด้วยการยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้า การลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุนผ่านค่ายรถยนต์ ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถจักรยานยนต์

โดยรถยนต์ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้ส่วนลดภาษีขาเข้าสูงสุด 40% ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% และเงินอุดหนุน 70,000 – 150,000 บาท ขึ้นกับขนาดแบตเตอรี่, รถยนต์ราคา 2-7 ล้านบาท ลดภาษีนำเข้าสูงสุด 20% ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% แต่ไม่มีเงินอุดหนุนให้

รถกระบะราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิตเป็น 0% และมีเงินอุดหนุนให้ 150,000 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท

ดูแล้วมาตรการที่ออกมาถือว่าจูงใจไม่น้อย เพราะสาเหตุสำคัญที่คนไทยยังไม่ใช้รถอีวี นอกจากกังวลเรื่องระบบเทคโนโลยี ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จ แท่นชาร์จ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนอะไหล่ ฯลฯ อีกเหตุผลหลักคือราคาที่ยังสูง แต่หลังจากนี้ราคาจะลดลงทันที 70,000 – 150,000 บาท สำหรับค่ายรถที่จะมาตั้งฐานการผลิตในไทย

ส่องหุ้นดาวเด่นรับ “แพ็กเกจอีวี” ตัวไหนน่าลงทุน?

มาดูคำแนะนำของแต่ละสำนักวิจัย โดยบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า กลุ่มยานยนต์จะได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มงบลงทุนสายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นบวกโดยตรงในระยะกลางถึงยาวต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจากการเป็นฮับของเอเชีย 

มี STANLY เป็นหุ้นเด่นประจำกลุ่ม โดยสินค้าของบริษัททั้งโคมไฟและหลอดไฟเป็นสินค้าที่ไม่ถูกดิสรัปชั่น เนื่องจากสามารถปรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ปรับสายการผลิตเพื่อรองรับโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว

ส่วน “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม” จะได้รับประโยชน์ในระยะยาวจากนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้สัดส่วน 30% ของกำลังการผลิตรถทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งจะเรียกความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนของบริษัทเอกชน หุ้นเด่น คือ WHA

ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หลังครม. เคาะแพ็กเกจอีวี เชื่อว่าระยะสั้นจะมีกระแสเชิงบวกหนุนราคาหุ้น แนะนำการเล่นเก็งกำไร (Trading) แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากบางบริษัทราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 - 4 ปี 2564 

สะท้อนจาก %Return ราคาหุ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 เช่น NEX ปรับขึ้นมาแล้ว 136.36% ส่วน EA ขึ้นมา 56.73% จากกระแสเก็งกำไรมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ

บล.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า มาตรการที่ออกมาถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ ผู้ผลิตและประกอบแบตเตอรี่, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงสั้นคงไม่ได้ทำกำไรให้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกของการเติบโต สิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือ การทำได้จริงของแผนต่างๆ ที่ผู้ประกอบการได้วางเอาไว้