ปตท.เร่งธุรกิจแห่งอนาคต สุขภาพ-ไลฟ์สไตล์-อีวี

ปตท.เร่งธุรกิจแห่งอนาคต สุขภาพ-ไลฟ์สไตล์-อีวี

ปตท.ลุยธุรกิจใหม่ เร่งเครื่องโรงงานผลิตรถอีวี ย้ำนักธุรกิจไทยต้องปรับตัว เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลมาแรง แนะสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนการผลิตสินค้าจากเน้นปริมาณให้มาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “Finding Growth in Crisis” หลักสูตร “Digital Transformation for CEO#3” โดยหลักสูตรดังกล่าวถือเป็นการจัดงานรุ่นที่ 3 ดำเนินการร่วมกันระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อีซี จำกัด (มหาชน)

นายบุรณิน กล่าวว่า เทรนด์การดำเนินธุรกิจต่อจากนี้จนถึงอนาคตเป็นการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากแค่ไหน โดยสิ่งสำคัญคือการเติบโต รวมถึงการสร้างโอกาสโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติที่โอกาสจะเปิดให้ผู้ที่ค้นหาเจอและพบกับความสำเร็จในวิกฤติ

สำหรับวันนี้ประชาชนอยู่บนโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งอาจเห็นว่าโควิด-19 เป็นตัวการแต่จริงๆ แล้วเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทำให้ทุกคนแล้วเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง และอยู่บนวิธีคิดเดิมไม่ได้แล้ว เช่น สหรัฐเคยเป็นแชมป์โลกในวันนี้ถูกจีนเข้ามาท้าทาย ในขณะที่บางบริษัทใหญ่ที่บรรทุกสินค้าขายครั้งละจำนวนมาก แต่เริ่มเห็นเรือเล็กที่แข่งขันได้ ซึ่งวิธีคิดวันนี้ไม่ได้ยืนยันว่าเบอร์ 1 ต้องเป็นเบอร์ 1 เสมอไป บริษัทใหญ่ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้นำเสมอไป

ส่วนยุควิกฤติไม่มีแต้มต่อหรือความได้เปรียบ โดยทุกการพัฒนาของโลกอยู่ในฐานสำคัญ คือ ฐานของการเติบโตและความทันสมัย เป็นจุดเริ่มต้นของทุนนิยมในการปฎิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละยุคสมัยตั้งแต่ยุค 1.0 ที่เริ่มเปลี่ยนจากเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมค้นพบเครื่องจักรกลไอน้ำและารทอผ้า ซึ่งต่อมาเข้าสู่ยุคไฟฟ้าหรือการมีระบบสายพานลำเลียง ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์ยุคแรกมีขนาดใหญ่ และปัจจุบันคอมพิวเตอร์ในอดีตได้ถูกเชื่อมโยงเป็นอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (IoT)

ทั้งนี้ โลกต้องอยู่ด้วยการเติบโตและความทันสมัย โดยทุกการเติบโตแย่งทรัพยากรทำให้เราเจอประเด็นโลกร้อน ซึ่งถ้าใช้รูปแบบเดิมอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอย่างน้อง 5 องศาเซลเซียส ซึ่งทุกคนบอกว่าขึ้นแค่ 1.5 องศาเซลเซียส ก็อยู่ไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาของลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการมุ่งเป้าสู่ Net Zero ที่นานาประเทศตั้งเป้าหมายไว้

“ข้อดี ปตท.คือใช้พลังงานทุกยุค ยิ่งอนาคตจะใช้พลังงานเยอะ แต่การใช้พลังงานต้องเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การดำเนินธุรกิจแบบเดิมจึงต้องปรับเปรียนโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน ดังนั้นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ พลังงานรูปแบบไฟฟ้า เกษตรสมัยใหม่ สมาร์ทกริด และการลดคาร์บอน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย”

โลกเข้าสู่สังคมสูงวัย

ทั้งนี้ โลกกำลังอยู่ในสู่ยุคสังคมสูงวัยที่มาจากคนเกิดน้อยและอายุยืนขึ้น ปี 2100 ประชากรที่อายุเกิน 60ปี อาจจะมีมาก 30% ของโลก ในอาเซียนด้วยกันเอง โดยไทยอาจเป็นประเทศกลุ่มแรกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจากเดิมประเทศที่เข้าสู่ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศถือว่ารวย ดังนั้น ถ้าไทยไม่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนย้ายการลงทุนอาจมองข้ามไทยไปประเทศที่ตลาดมีกำลังซื้อมากกว่า หรือมองประเทศที่มีกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน

ดังนั้น ไทยไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีจึงไม่มีบุคลากรที่มีพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งการจะทำให้เร็วและดีที่สุด คือ การเติบโตไปกับพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศ โดยเปลี่ยนจากยุค 3.0 เป็น 4.0 ให้เร็ว และเปลี่ยนจากการผลิตปริมาณมากเป็นผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น ดังนั้น ถ้าต้องมูฟประเทศหรือมูฟบริษัทมีวิธีคิดใหม่ทั้งการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกับพันธมิตรตอบโจทย์ธุรกิจ

ปตท.เร่งดัน “บีซีจี”

นอกจากนี้ จากนโยบายผลักดัน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ถือกว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสอดคล้องแนวทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ที่ต้องช่วยกันเร่งผลักดันให้เกิด 

ดังนั้น นโยบาย BCG จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไบโออีโคโนมี หรือกรีนอีโคโนมี ปตท.ได้เริ่มเปลี่ยนจากที่เคยเป็นฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนและขยับขยายสู่ธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ ปรับจากการขายน้ำมัน ไปขายพลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ปี 2565 ปตท.จะปรับธุรกิจจากเดิม OLD-NOE-NEW เป็น NOW-NEW-BETTER ที่ต้องทำทันที โดยเฉพาะเรื่องใหม่ที่ต้องมีศักยภาพสอดคล้องกับเทรนด์โลก เช่น รีคาร์บอไนเซชัน เทคโนโลยี ดิจิทัล และเข้าไปสู่ไบโอเทคโนโลยี และต้องดีต่อโลกและทุกคน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว

“ปีที่เกิดโควิด ปตท.คุยเรื่องนี้เยอะมาก เพราะช่วงแรกราคาน้ำมับดิบตลาดโลกตกต่ำอยู่ที่ 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปตท.หานวัตกรรม วิธีคิดใหม่ และกลายเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต เปลี่ยนธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่พลังงาน ในจังหวะที่เรายังแข็งแรงจึงเปลี่ยนโครงสร้างสายงานใหม่จากเทคโนโลยีมาเป็นนวัตกรรม”

เดินหน้าธุรกิจไลฟ์สไตล์

ทั้งนี้ แม้ธุรกิจใหม่จะไม่ทำแค่ธุรกิจออยล์และแก๊ส แต่ต้องมุ่งเน้นพลังงานสะอาด และตั้งเป้าธุรกิจใหม่ที่ปัจจุบันมุ่งเน้นที่ 5 กลุ่มธุรกิจ อาทิ Life Science, Mobility & Lifestyle, High Value Business, Logistics & Infrastructure และ AI, Robotics & Digitalization โดยต้องเติบโตให้ได้ 30% ในพอร์ทเดิมในอีก 10 ปีข้างหน้า

ปตท.ผ่านการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 44 ปี ความสำเร็จเกือบทุกครั้งเกิดจากวิกฤติตั้งแต่ตั้ง ปตท.ปี 2521 เกิดวิกฤตทางด้านพลังงาน น้ำมันที่มีอยู่เป็นบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ไม่มีคนดูแล รัฐบาลจึงจัดตั้ง ปตท.ขึ้นมา และมายุคค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ใช้ก๊าซ แต่ไม่มีใครเสี่ยงวางท่อก๊าซทำให้ ปตท.ต้องลงทุน

ทั้งนี้ ก๊าซที่พบมาดูองค์ประกอบมีคาร์บอนหลายตัวจึงจัดตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้ปตท.เติบโตในยุคอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่หลังสู่ยุควิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ปตท.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อเป็นปัจจุบัน และนำเงินก้อนเดียวมาช่วยฟื้นฟูบริษัทลูกและเศรษฐกิจไทยปี 2540 ทำให้เติบโตจาก 30,000 ล้านบาท มาเป็นระดับเกือบ 2 ล้านล้านในปัจจุบัน

เร่งเครื่องโรงงานอีวี

นายบุรณิน กล่าวว่า ยุคนี้ คือ ยุค 5จี จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศเพื่อคนในอนาคต โดยถ้า ปตท.ไม่ทำและประเทศจะขยับได้อย่างไร เพราะจีดีพีประเทศโตปีละแค่ 1-3% และมาจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งสิ่งที่ ปตท.จะทำคือการปรับสู่ธุรกิจอีวีเพื่อมูฟประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู่การใช้พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ ปตท.ร่วมทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านอรุณพลัส ร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์ ตั้ง ฮอริษอน พลัส ลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย มีเป้าหมายตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่ 350ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ผลิตขายออกสู่ตลาดปี 2567 จำนวน 50,000 คันต่อปี ขยายกำลังการผลิตถึง 150,000 คันต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อสอดรับความต้องการ EV ภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“การใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟและไฟฟ้าที่ได้ไปเป็นรถอีวีมาเป็นระบบแบตเตอรี่ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอีวีใช้ชิ้นส่วนเล็กลงวัสดุต้องเบาแต่ทนทาน ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท.มีบริษัทในเครือ คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) จะดูแบตเตอรี่ทั้งที่เป็นนวัตกรรมของตัวเองหรือร่วมทุนกับบริษัทอื่นเรียกได้ว่าครบวงจร”

“อีวี”มาแทนรถสันดาปแน่

ทั้งนี้ มองว่าเทรนด์รถอีวีต้องมาแทนรถสันดาปแน่นอน ค่าใช้จ่ายแบตฯ อนาคตต้องถูกลง การใช้เครื่องยนต์สันดาปเกิดคาร์บอนและ PM 2.5 ถ้าอยากให้ไทยเป็นประเทศสีเขียว จุดนี้สำคัญ เพราะถ้าไม่อยากเสียตลาดรถยนต์ที่ผลิตปีละ 2ล้านคัน โดยอนาคตเขาอาจมองข้ามประเทศไทยไปอินโดนีเซีย เวียดนาม ปตท.จึงต้องลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่อาจดิสรัปธุรกิจเดิม ดังนั้น กลยุทธ์พาร์ทเนอร์ชจึงเป็นเรื่องสำคัญ

อรุณพลัสจับมือกับ GPSC พัฒนาแบตเตอรี่และหาโอกาสการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ด้วย ขณะเดียวกันตัวชาร์จไฟมีทั้งที่อรุณพลัสไปติดตั้งเองนอกปั๊มกับนอกปั๊มที่โออาร์ติดตั้ง และยังมีแพลตฟอร์ม อีวี มี ให้เช่ารถอีวี รวมถึงมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มี สวอพ แอนด์ โก เป็นสถานีจุดชาร์จสลับแบตเตอรี่แก่ผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รองรับการขยายตัวกลุ่มไรเดอร์

นอกจากนี้ กระแสตระหนักเรื่องสุขภาพสำคัญช่วงโควิด-19 กระทบคนอายุเยอะ โรคสมัยใหม่เกิดขึ้นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแพง ปตท.จึงมองว่า Life Science ไทยยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงต้องนำเข้าทั้งหมด ปตท.จึงเข้ามาทำทั้งการป้องกันตรวจวินิจฉัย ใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ทางการแพทย์ กินอาหารที่มีคุณภาพ จากการตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยา อุปกรณ์การแพทย์ อาหารทางการแพทย์ ต่อยอดไปถึงไบโอเทคโนโลยีที่อนาคต

“ภาคเอกชนต้องมุ่งมั่นที่จะเติบโตเพื่อสร้างอนาคตให้รุ่นลูก คนรุ่นใหม่ปีที่แล้วแยกธุรกิจเก่า ปัจจุบันมาอนาคต แต่ปีนี้ ปตท.อยู่ในธุรกิจปัจจุบันและไปสู่ธุรกิจอนาคตและอนาคตที่จะต้องอยู่กับทุกคนต่อไป ปตท.ยึดหลักโลกเปลี่ยน เราแค่ปรับก็อยู่รอดแล้ว