"สุริยะ" รมว.อุตฯ แจงข้อกล่าวหากรณีพิพาทเหมืองทองอัครา

"สุริยะ" รมว.อุตฯ แจงข้อกล่าวหากรณีพิพาทเหมืองทองอัครา

"สุริยะ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โต้ประเด็น ส.ส. จิราพร กล่าวถึงคดีเหมืองทองอัคราว่าฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้และเสียค่าโง่

ผู้สื่อข่าวรายงานถึง การประชุมสภาฯ วันที่ 18 ก.พ. 2565 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เพื่อพิจารณา "ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี" โดยไม่ลงมติ ต่อเนื่องวันที่สอง

โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในที่ประชุมชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหาที่ นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงคดีเหมืองทองอัครา ดังนี้

ประเด็นแรก เรื่องสาเหตุที่มีการเจรจาระหว่างฝ่ายไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด และมีการเลื่อนการออกคำชี้ขาดหลายครั้ง เผยว่า ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มเจรจาแต่เป็นคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ ในระหว่างการไต่สวนข้อพิพาทที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายควรมีการเจรจาตกลงกัน จึงเริ่มมีการเจรจากันในเดือน มิ.ย. 2563

ทั้งนี้ การเลื่อนออกคำชี้ขาดที่ผ่านมาทั้งหมด 3 ครั้ง มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้การเจรจาลำบากขึ้น ซึ่งการเลื่อนในแต่ละครั้งเป็นการตกลงของทั้งสองฝ่าย แม้จะยังไม่ได้ข้อยุติข้อพิพาทแต่การเจรจามีความคืบหน้า และมีทิศทางบวก ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงว่ามีความประสงค์จะเลื่อนออกคำชี้ขาดจึงได้แจ้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการทราบ ส่วนที่ ส.ส. จิราพร กล่าวหาว่า การเลื่อนออกคำชี้ขาดแต่ละครั้งจะมีการให้สิทธิประโยชน์แก่ฝ่ายคิงส์เกตทุกครั้ง เป็นความเท็จ การเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์หรือการอนุญาตใดๆ

ประเด็นที่สอง เรื่องที่คิงส์เกตมีการเปิดเผยข้อมูลในขณะที่ฝ่ายไทยไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ นายสุริยะ กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการออกคำชี้ขาด ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้ ส่วนข้อมูลที่คิงส์เกตเปิดเผยนั้น ไม่ใช่ข้อมูลในคดี หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากการไต่สวน แต่เป็นข้อมูลที่มาจากการเจรจายุติข้อพิพาทที่คิงส์เกตต้องการเรียกร้อง ซึ่งไม่ใช่ข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่มีการตัดสินหรือมีความคืบหน้าเกี่ยวกับเหมืองทองอัคราฝ่ายไทยก็มีการเปิดเผยเช่นกัน โดยในการเลื่อนออกคำชี้ขาดทุกครั้ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม มีการออกข่าวประชาสัมพันธ์ทุกครั้งเช่นกัน

ประเด็นที่สาม ที่กล่าวหาว่าฝ่ายคิงส์เกตจะเจรจาและถอนฟ้องสู้คดีจนถึงที่สุด รวมทั้งอ้างว่าฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้และเสียค่าโง่ เพราะคิงส์เกตออกแถลงการณ์ว่ามั่นใจจะชนะแน่นอน นอกจากนี้ ส.ส. จิราพร ยังหยิบยกคดีของต่างประเทศมาเปรียบเทียบและอ้างว่า คิงส์เกตจะได้รับค่าชดเชยความเสียหายถึง 30,000 ล้านบาท

นายสุริยะ อ้างถึง ข้อมูลงบการเงินของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ประกอบกิจการเหมืองทองในประเทศตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2558 เป็นเวลา 15 ปี พบว่ามีกำไร 11,955 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 800 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่ ส.ส. จิราพร อ้างว่าคิงส์เกตจะได้ค่าเสียหายนั้น บริษัทจะต้องประกอบกิจการถึง 38 ปี ถ้าคิงส์เกตมั่นใจว่าจะชนะคดี และได้รับเงินชดเชย 30,000 ล้านบาท คงไม่มีการเจรจากับฝ่ายไทย

นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาที่กล่าวถึง การอนุญาตต่างๆ อาทิ การให้สิทธิสำรวจแร่ 44 แปลง และการนำผงเงินทองคำออกไปจำหน่าย เป็นการประนีประนอมเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดี ไม่เป็นความจริง 

นายสุริยะ กล่าวชี้แจงว่า การอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลงให้กับบริษัท อัครา ในปี 2544 โดยบริษัท อัคราได้ทยอยยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ในช่วงปี 2546-2548 ต่อมาในปี 2549 ขออยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ แต่เกิดรัฐประการขึ้นก่อน และในปี 2550 ครม.มีมติให้ชะลอการอนุมัติและให้ศึกษาจัดทำนโยบายทองคำก่อน จนปี 2552 สภาพัฒน์เสนอนโยบายทองคำและ ครม. มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ ช่วงปี 2552-2554 กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำนโยบายทองคำ

กระทั่งในปี 2557 ประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองร้องเรียนเรื่องปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง และเกิดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น ได้สั่งการ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงไปตรวจสอบและทั้ง  4 กระทรวงได้เสนอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน

วันที่ 13 ธ.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้มีคำสั่ง คสช. 72/2559 ให้ยุติการขออนุญาตการขออาชญาบัตรพิเศษและระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชั่วคราว และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบปรับปรุงนโยบายทองคำใหม่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขออนุญาตสำรวจแร่ การขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง รวมทั้งมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพของประชาชนที่รัดกุม

กระทั่ง เดือน ต.ค. 2560 ครม.ได้เห็นชอบ พรบ.แร่ 2560 และนโยบายทองคำให้มีผลบังคับใช้ ทำให้บริษัท อัครา ดำเนินการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษที่ขอค้างไว้ได้  เนื่องจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ทำให้บริษัท อัครา ตัดสินใจยื่นเอกสารเพิ่มเติมและขออาชญาบัตรตั้งแต่ เดือน ม.ค.2563 ตามกรอบนโยบายทองคำ

นายสุริยะกล่าวยืนยันว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ 44 แปลงของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบทุกประการ โดยไม่มีการแทรกแซงและเร่งรัดแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด และเป็นการเจรจาอย่างตรงไปตรงมา