ผ่าวิชั่นทายาท “พะเนียงเวทย์” เคลื่อนอาณาจักร “มาม่า” ผงาดตลาดโลก

ผ่าวิชั่นทายาท “พะเนียงเวทย์”  เคลื่อนอาณาจักร “มาม่า” ผงาดตลาดโลก

จากรุ่น 1 ผู้ปลุกปั้นไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ขับเคลื่อนธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" จนเติบโตเป็นที่ 1 ยาวนาน ปัจจุบัน "ทายาทพะเนียงเวทย์" รุ่น 2 รับไม้ต่อ พลิกธุรกิจอาหารรับโลกอนาคต มุ่งความยั่งยืน เน้นคุณค่าสินค้า ควบคู่อร่อย ครองครัวเรือนไทย ผงาดเวทีโลก

15 กุมภาพันธ์ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรืออาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของเมืองไทย “มาม่า” ครบรอบ 50 ปี จากเจนเนอเรชั่น 1 “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือ TFMAMA ร่วมกับพาร์ทเนอร์สำคัญ “เครือสหพัฒน์” ปลุกปั้นธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง แม้เผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง โรคโควิด-19 ระบาด แต่บริษัทได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ การที่บริษัท “ฝ่า” ทุกกระแสมาได้ “พิพัฒ” ยก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.สินค้าดีมีคุณภาพตอบสนองความต้องการผู้บริโภค 2.พันธมิตรดี มีสหพัฒน์เป็น “พี่เลี้ยง” และ3.บริหารการลงทุนแบบพอเพียง ระมัดระวัง ไม่ทำอะไรเกินตัว

ตลอด 50 ปี บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์มาม่าออกสู่ตลาดแบบเดิมคือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ทอดน้ำมันแต่ที่เพิ่มเติมคือนวัตกรรม การยกระดับเทคโนโลยีการผลิตสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการ “ต้นทุน” ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้กระทบ “ราคา” บะหมี่ฯ ซึ่งจากจุดเริ่มต้นราคา 2 บาท ปัจจุบันขายเพียง 6 บาทเท่านั้น

“สิ่งที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จคือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดการสูญเสีย ควบคุมต้นทุนได้สม่ำเสมอ ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มเพียง 3 เท่าในเวลา 50 ปี”

ผ่าวิชั่นทายาท “พะเนียงเวทย์”  เคลื่อนอาณาจักร “มาม่า” ผงาดตลาดโลก เพชร-พจนา พะเนียงเวทย์, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กุนซือธุรกิจ, พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ผู้ปลุกปั้นมาม่า พจน์-พันธ์-พจนี พะเนียงเวทย์

พิพัฒ กุมบังเหียนไทยเพรซิเดนท์ยาวนาน ปัจจุมี “ทายาทพะเนียงเวทย์” 7 คนเข้ามาสานอาณาจักรต่อ โดยเป้าหมายทศวรรษใหม่บริษัทต้องการเติบโตเท่าตัว สร้างยอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี มียอดขายทั้งในและต่างประเทศเท่ากัน 50%

พจนี พะเนียงเวทย์ รองผู้อำนวยการ TFMAMA ฉายภาพว่า ตลอด 50 ปี มาม่าไม่เคยหยุดนิ่ง มีการพัฒนานวัตกรรมสินค้าออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ส่วนแนวทางในทศวรรษใหม่บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าสินค้ามากขึ้น จากเดิมเน้นปริมาณการบริโภค  แต่ทุกอย่างยังยึดหลักการเดิมคือเป็นบะหมี่ฯตอบโจทย์ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ประหยัด และโมเดลธุรกิจต้องอยู่ภายใต้กรอบการพัฒนายั่งยืนหรือBCG

เพชร พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัท และ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา TFMAMA กล่าวว่า สิ่งที่มาม่าจะก้าวไปข้างหน้า คือการผลักดันยอดขายในประเทศให้เติบโต ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักถึง 70% ส่งออก 30%

ทั้งนี้ หลักการทำตลาดมาม่าเดิมมี 5 อย่าง คือ อร่อย ปลอดภัย สะดวก เก็บรักษาได้นาน และประหยัด แต่อนาคตต้องเพิ่ม “คุณค่า” และการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะที่การจำหน่ายต้องมีทุกช่องทางทั้งร้านค้าทั่วไป ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

ผ่าวิชั่นทายาท “พะเนียงเวทย์”  เคลื่อนอาณาจักร “มาม่า” ผงาดตลาดโลก “ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว ในฐานะผู้ทำตลาด เราต้องเปลี่ยนให้เร็วกว่า เป็นผู้กำหนดเทรนด์ หรืออย่างน้อยต้องทันตลาด ขณะที่คุณพิพัฒ(บิดา)พูดเสมออย่าล้ำสมัย แต่ต้องทันสมัย ทำให้เราต้องขบคิดการทำธุรกิจเร็ว ช้า หนักเบา นำปรัชญาสหพัฒน์มาใช้”

ปัจจุบันคนไทยบริโภคบะหมี่ฯเฉลี่ย 53.2 ซองต่อคนต่อปี เป็นอันดับ 5 ของโลก แต่ขนาดตลาดราว 3,700 ซองต่อปี เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยปีก่อนตลาดเติบโต 10% และมาม่ามีส่วนแบ่งตลาดราว 50%

พจนา พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัท และ กรรมการธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยง TFMAMA และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรซิเดนท์ อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด กล่าวว่า มาม่าต้องการเข้าไปอยู่ในครัวเรือนผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งภายใน 5 ปีบริษัทจะลงทุนขยายโรงงานในต่างประเทศเพิ่ม จากปัจจุบันมี 4 โรงงานในต่างแดน ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา บังกลาเทศและฮังการี

ทั้งนี้ มาม่าบุกตลาดต่างประเทศมากว่า 30 ปี มีจำหน่าย 68 ประเทศ จากยอดขายปีแรก 2% ปัจจุบัน 29% ในปี 2569 จะเพิ่มเป็น 50% เป็นยอดขายส่งออกจากไทย 11,000 ล้านบาท จากโรงงานในต่างประเทศ 4,000 ล้านบาท

ผ่าวิชั่นทายาท “พะเนียงเวทย์”  เคลื่อนอาณาจักร “มาม่า” ผงาดตลาดโลก

อาณาจักรมาม่า 50 ปี ผู้นำบะหมี่ฯหมื่นล้าน

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ TFMAMA กล่าวว่า การขยายโรงงานในต่างประเทศมองโมเดลทั้งการเป็นพันธมิตร การซื้อกิจการ ส่วนเงินลงทุนขึ้นอยู่กับประเทศเป้าหมาย ที่ผ่านมาบริษัทซื้อโรงงานในฮังการีใช้เงินราว 300 ล้านบาท ล่าสุดยังเจรจากับพันธมิตรในมาเลเซียเพื่อผนึกกำลังลุยตลาดบะหมี่ฯ แนวทางร่วมทุนต้องการถือหุ้น 51%

ส่วนตลาดในประเทศไทยปีนี้จะใช้งบลงทุน 400 ล้านบาท ยกระดับการผลิตในโรงงาน และวางงบ 0.5% ของกำไรเพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่สู่ตลาดต่อเนื่อง

“ 50 ปีไทยเพรซิเดนท์ นอกจากเป็นผลิตบะหมี่ฯ บริษัทมองโอกาสขยายสู่ธุรกิจอาหารใหม่ๆรับตลาดอนาคต ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่ต่อยอดจากบะหมี่ฯ เช่น โคราคุเอ็น ร้านราเมงที่มีสาขามากสุดในญี่ปุ่นที่เราซื้อกิจการและได้โรงงานผลิตเส้นสด มองโอกาสแพลนท์เบสท์ และอาหารที่มีโปรตีนสูงด้วย”