OR ปี 64 กวาดรายได้ 5 แสนล้าน กำไรแตะ 1.1 หมื่นล้าน

OR ปี 64 กวาดรายได้ 5 แสนล้าน กำไรแตะ 1.1 หมื่นล้าน

OR กวาดรายได้ปี 64 กว่า 5 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเกือบ 20% จาก 3 กลุ่มธุรกิจ โมบิลิตี้ ไลฟ์สไตล์ และโกลบอล ที่ขยายตัวต่อเนื่อง หลังโควิดผ่อนคลาย - ราคาน้ำมันพุ่ง ดันกำไรโต 30% แตะ 1.1 หมื่นล้าน

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และบริษัทย่อย เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ปี 2564 บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้ขายและบริการ 157,839 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนในช่วงสิ้นปีส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น

สำหรับความต้องการใช้น้ำมันของโลกกำลังฟื้นตัวด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วในหลายประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นทำให้ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน (กลุ่มธุรกิจ Mobility) มีรายได้ขายเพิ่มขึ้น 35.4% ส่วนใหญ่เป็นผลจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 24.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและเบนซิน เช่นเดียวกับ กลุ่มธุรกิจ Non-Oil (กลุ่มธุรกิจ Lifestyle) ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 34.5% ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณขายเพิ่มขึ้น

สำหรับกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ (กลุ่มธุรกิจ Global) มีรายได้เพิ่มขึ้น 31.3% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และปริมาณการขายเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ

EBITDA ในไตรมาส 4 ปี 2564 จำนวน 4,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 367 ล้านบาท (+9.1%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่เพิ่มขึ้นกว่า 46.0% โดย EBITDA Margin ดีขึ้น ทั้งในส่วนของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มและธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Mobility เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตรากำไรอ่อนตัวลงจากภาวะกดดันในการปรับราคาขายหน้าสถานีบริการในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาคประชาชน ส่วนกลุ่มธุรกิจ Global ปรับตัวลดลง (-23.1%) ตามกำไรขั้นต้นที่ปรับตัวลดลงในสปป. ลาว เป็นหลัก

สำหรับภาพรวมของค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น (+28.9%) โดยหลักคือ ค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย ค่าจ้างเติมน้ำมันอากาศยาน ค่าขนส่ง เป็นต้น รวมถึงค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในไตรมาสนี้

กำไรสุทธิในไตรมาสนี้ จำนวน 2,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 462 ล้านบาท (+24.4%) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.20 บาท สูงกว่าไตรมาสก่อน 0.04 บาท (+25.0%)

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2564 ของ OR มีรายได้รวม 511,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.94% จากปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ จำนวน 11,474 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,683 ล้านบาท (+30.5%) ทั้งจากรายได้ขาย และ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 82,995 ล้านบาท (+19.4%) และ 2,716 ล้านบาท (+15.4%) ตามลำดับ

โดยภาพรวมผลการดำเนินงาน กลุ่มธุรกิจ Mobility ดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะปรับลดลง 5.1% อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของ กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยหลักมาจากมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไทยในบางช่วงของปี ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ รวมทั้ง OR ได้ช่วยบรรเทาภาระของผู้ประกอบการ Franchisee ร้าน Cafe Amazon ทุกสาขาดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นในค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global มีผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง โดยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในบางประเทศ เช่น กัมพูชาและ สปป.ลาว ทำให้ภาพรวมปริมาณขายลดลง ประกอบกับกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม OR มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง 867 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์น้ำมันจำนวนสูงโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในระลอกแรก อีกทั้งประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้ลดลง เนื่องจากในปี2563 ได้ตั้งประมาณการดังกล่าวของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด ที่ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์