SPRC ผิดซ้ำน้ำมันดิบรั่ว บทเรียนครั้งใหญ่ “มาบตาพุด”

SPRC ผิดซ้ำน้ำมันดิบรั่ว บทเรียนครั้งใหญ่ “มาบตาพุด”

ถือเป็นปัญหาใหญ่ของการเกิดน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เวลาห่างกันไม่ถึงเดือนของ "SPRC" ที่ก่อนหน้านี้ยังบริหารจัดการปัญหายังไม่เรียบร้อยดี ล่าสุด "กรมเจ้าท่า" แจ้งความข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง-ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลแล้ว

โดยการรั่วไหลครั้งแรกของ SPRC เกิดขึ้นต้นปีนี้ วันที่ 25 ม.ค.2565 พบปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหล 39 ตัน เทียบเท่า 47,000 ลิตร และขจัดคราบน้ำมันจนหมดในวันที่ 30 ม.ค.2565 ล่าสุดวันที่ 10 ก.พ.2565

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงถึงเหตุน้ำมันรั่วไหลซ้ำเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ในระดับ Tier 1 (น้ำมันรั่วไหลขนาดเล็ก ไม่เกิน 20 ตัน) โดยพบฟิล์มน้ำมันดิบ (สีเงิน) บริเวณทิศเหนือ ห่างจากทุ่นผูกเรือน้ำลึก แบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ประมาณ 3 ไมล์ ใกล้กับจังหวัดระยอง

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้เคยมีคำสั่งให้ระงับการใช้งานทุ่นเทียบเรือดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2565 ส่วนสาเหตุการรั่วไหล เบื้องต้นทราบว่าเกิดจากการที่บริษัทฯ ได้ยกท่ออ่อนขนถ่ายน้ำมันบริเวณทุ่นลอยขนถ่ายน้ำมันกลางทะเล จุดที่พบการรั่วไหลก่อนหน้าขึ้นมาตรวจสอบ แต่พบว่ามีน้ำมันค้างท่ออยู่ จนทำให้เกิดรั่วไหลลงทะเลอีกครั้ง

 

โดยภายหลังเกิดเหตุกรมเจ้าท่าได้เร่งดำเนินการ 

1. ออกประกาศกรมเจ้าท่าให้ระมัดระวังการเดินเรือ และระมัดระวังความปลอดภัย

2. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาระยอง ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวนอีกครั้ง ในการกระทำดังกล่าวฝ่าผืนคำสั่งระงับใช้ทุ่นเทียบเรือ และก่อให้เกิดมลพิษฯ

3. มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุฯ ในระดับ Tier 1 และแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบเพื่อเตรียมการรองรับเหตุที่เกิดขึ้นกรณีขยายวงกว้าง

4. ได้สั่งการให้บริษัทฯ เข้าระงับเหตุฯ อาทิ ล้อมบูม จัดเรือสนับสนุน และรายงานผลการทำงาน

5. กรมเจ้าท่า จัดเรือตรวจการณ์ เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าเร่งดำเนินการขจัดคราบน้ำมันเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งให้เร่งประสานบริษัทฯ ตรวจสอบจุดที่รั่วไหลว่ายังคงมีปริมาณน้ำมันตกค้างอยู่ในท่ออีกหรือไม่ เพื่อการวางแผนและเตรียมการป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

ขณะที่ SPRC ออกแถลงการณ์ฉบับที่1 ช่วงเย็นของวันที่ 10 ก.พ.2565 ว่าพบฟิล์มน้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร ระหว่างการเตรียมการเคลื่อนย้ายท่ออ่อนที่อยู่ใต้ทะเล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

ในทันทีที่เกิดเหตุ ได้ระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน หยุดกิจกรรมบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล ตามขั้นตอนความปลอดภัย นำทุ่นกักน้ำมัน (boom) กักคราบฟิล์มน้ำมันไว้ และมีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบฟิล์มน้ำมัน และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

บริษัทฯ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทัพเรือ ภาค 1, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล), ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม (EMCC), กรมควบคุมมลพิษ, กรมเจ้าท่าระยอง, ศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าว (EIC), และสำนักงานท่าเรือมาบตาพุด ในการให้ความร่วมมือเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์

รายงานล่าสุดของกรมเจ้าท่า โดย นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ได้สั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง ออกประกาศกรมเจ้าท่า ให้ระมัดระวังการเดินเรือและระมัดระวังความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณดังกล่าว พร้อมกันนี้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ในการกระทำดังกล่าวที่ฝ่าฝืนคำสั่งระงับใช้ท่าเรือ และก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล

พร้อมกันนี้กรมเจ้าท่ามีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุในระดับ Tier 1 ที่มีระดับปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 20 ตัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างขนถ่ายน้ำมัน ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขจัดคราบน้ำมัน หรือขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทฯ ได้ทำการแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบแล้ว พร้อมแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดระยองรับทราบเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเตรียมการรองรับเหตุที่เกิดขึ้นกรณีหากคราบน้ำมันขยายวงกว้าง

สำหรับการดำเนินการตามแผนขจัดคราบน้ำมัน กรมเจ้าท่า ได้ให้บริษัทเข้าระงับเหตุดังกล่าว อาทิ การล้อมบูม จัดเรือสนับสนุน และรายงานผลการทำงานให้กรมเจ้าท่าทราบทันที ในส่วนของกรมเจ้าท่า ได้ทำการจัดเรือตรวจการณ์เข้าสนับสนุน พร้อมตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ปัจจุบันบริษัทฯสามารถระงับเหตุการณ์ได้แล้ว และจะดำเนินการฟื้นฟูตามมาตรการ พร้อมประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมันต่อไป