กอบศักดิ์ ภูตระกูล เตือนรับความผันผวนหลังเฟดถอนสภาพคล่อง คาดจีดีพีโต3-4%

กอบศักดิ์ ภูตระกูล  เตือนรับความผันผวนหลังเฟดถอนสภาพคล่อง คาดจีดีพีโต3-4%

"แบงก์กรุงเทพ "จับตาเฟดตัดสินใจเชิงนโนบาย มี.ค.นี้ เดือนนักลงทุนเตรียมรับความผันผวน ชี้ปีนี้เป็นปีท้าทายการลงทุนในทุกสินทรัพย์ ถือพันธบัตรเสี่ยงขาดทุนสูง ด้านเศรษฐกิจไทยปีนี้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์หลังโควิดคาดจีดีพีโต 3-4% มีโอกาสสู่่ฮับทำธุรกิจในภูมิภาคนี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL  กล่าวในงาน สัมมนาออนไลน์ “Economic and Investment Outlook 2022: เปิดมุมมองเศรษฐกิจโลก เจาะลึกกลยุทธ์การลงทุนไทย”  โดยธนาคารกรุงเทพ ว่า  จากประเด็นการถอนมาตราการทางการเงินและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและการลงทุนในไทยช่วงต่อไป อยู่ที่ว่าการตัดสินใจในเชิงนโยบายของเฟด ในเดือนมี.ค. นี้ ว่าจะใช้ยาแรงและถอนสภาพคล่องเร็วไหน ต้องติดตามใกล้ชิด

ดังนั้นแนวโน้มตลาดการเงินและการลงทุนในระยะถัดไป มองว่า ทุกสินทรัพย์มีความผันผวนต่อเนื่อง  ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน อัตราแลกเปลี่ยน หรือแต่สินทรัพย์ทางเลือก อย่างคริปโทเคอเรนซี่และทองคำ เกิดการปรับตัวครั้งสำคัญ เพราะการดึงเงินกลับทำให้แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นและเงินบาทอ่อนค่า จากปัจจุบันผันผวนอยู่ที่ระดับ 32 ปลายๆถึง 34 บาทต่อดอลลาร์ 

ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะชัดเจนมากขึ้นถึงจำนวนครั้งในเดือนมี.ค. ก็จะส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะ Money Market Fund ผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ มีโอกาสขาดทุนได้ ก็จะต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบกับเงินลงทุน

ส่วนตลาดหุ้นไทย แม้ว่าดัชนี SET  จะกลับมาที่เดิมก่อนโควิด แต่จะไปต่อได้แค่ไหน การติดสินใจในเชิงนโยบายของเฟดยังส่งผลกระทบและตลาดหุ้นสหรัฐปีนี้คาดไซดเวย์หรือผันผวนแกว่งตัวขึ้นลง 1,000 จุด

ขณะที่ราคาทอง เริ่มแผ่วลงอยู่ที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากก่อนหน้าที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อดอลลาร์  หากทิศทางเฟดขึ้นดอกเบี้ยและไม่มีประเด็นกดดันเศรษฐกิจโลกมีโอกาสที่ราคาทองปรับตัวลง  หรือแม้แต่ราคาบิทคอยน์ที่ปรับตัวขึ้นมา สูงสุดกว่า 700 % และอีธีเลี่ยมกว่า 300% มีเฟดเริ่มดึงสภาพคล่องกลับเริ่มมีผลต่อราคาเหรียญคริปโทเคอเรนซีเริ่มปรับตัวลง

"ดังนั้นการลงทุนในทุกประเภทสินทรัพย์ในปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นักลงทุนต้องระมัดระวังความผันผวนที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจในเชิงนโยบายของเฟด "

 

ทางด้านเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า  ในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนของประชากรโลกและไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกรรมต่างๆได้มากขึ้น และเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกในปลายปีนี้ ทำให้มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยังดำเนินต่อไป แม้จะได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์โอมิครอนบ้าง แต่ไม่มากนัก 

ดยคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่ระดับ 3-4% จากปีก่อนที่เติบโตได้ประมาณ 1% จากการขับเคลื่อนในหลายภาคธุรกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 โดยเฉพาะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับก่อนโควิดฯ 25% การลงทุน 8% การบริโภค 5% การผลิต 5% ขณะที่ภาคที่ยังได้รับผลกระทบอยู่เป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการบริการ-ท่องเที่ยวยังกลับมาเพียง 6%ของยอดปกติแต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในข่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้

ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่าภาคการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญโดยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนสูงได้แก่ กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี เป็นต้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 64 มียอดรายได้ 9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของยอดรายได้ก่อนสถานการณ์โควิดฯที่ 11.9 ล้านบาท แสดงให้ถึงการกลับมาสู่ภาวะปกติได้ของผู้ประกอบการ

"สถานการณ์ในขณะนี้เหมือนกับว่าเราเห็นแสงสว่างที่อุโมงค์ชัดขึ้นใกล้ขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่เราจะทำอย่างไรให้ไปถึงทางออกอุโมงค์ แต่เป็นเมื่อออกจากอุโมงค์แล้ว จะทำอย่างไรให้สู้กับปัญหาใหญ่ที่กำลังรอเราอยู่ด้วย อาทิ การถูกดีสรัปชั่นทางเทคโนโลยีที่เราอาจจะลืมไปในข่วงนี้ ดังนั้น เราต้องใช้เวลา 4-5 เดือนในช่วงที่กำลังเดินออกสู่อุโมงค์นี้ในการปรับตัวเพื่อเมื่อเราออกจากตรงนี้ไปได้แล้วจะสามารถแข่งจันได้ในระยะยาว ซึ่งหากเราทำได้ดีๆ นักท่องเที่ยวมามากขึ้นตัวเลขจีดีพีกว่า 3-4%ที่คาดไว้ก็เป็นไปได้ว่าจะสูงกว่านี้"

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง เนื่องจากหลังวิกฤติโควิดฯผ่านพ้นไป ก็จะเข้าสู่โจทย์ของการสะสางปัญหา ได้แก่ หนี้ภาครัฐที่สูงขึ้น ก็จำเป็นต้องหารายได้มาชดเชย หนี้ครัวเรือนที่สูง และปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคเอสเอ็มอีที่สูง ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ไม่โจทย์ที่ท้าทายในเรื่องของการปรับตัวเข้าสู่ New Normal ซึ่งไม่ใช่เรื่องของโควิดฯเท่านั้น แต่จะต้องปรับตัวให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ นำพาไปสู่การบริหารงาน-การบริหารต้นทุนที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นในตลาดให้ได้

ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตาต่อไปจะเป็นกรณี การแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่จะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ความขัดแย้งทางด้านพื้นที่ อาทิ กรณี รัสเซียกับยูเครน และกรณีการถอนมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางอื่นๆ ภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกรวมทั้งไทย ขณะที่ประเด็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้น มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเริ่มลดลงในครึ่งปีหลังหลังปัญหาการขาดแคลนสินค้า-วัตถุดิบค่อยๆคลี่คลายลง


ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยนั้น มองว่าเรายังมีโอกาสดีๆสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกมาก  โดยมองว่า S Curve ที่โดดเด่นจะอยู่ที่ ธุรกิจอาหารแปรรูป, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, รถ EV ,ปิโตรเคมีขั้นสูง , Digital Economy และโลจิสติกส์ที่ไทยมีภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเป็น Logistics Hub อยู่แล้ว ซึ่งภาครัฐมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับในอนาคต เช่นEEC SEC  และ Western GATEWAY มองว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสและมีจุดแข็ง ก้าวเป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจในภูมิภาคนี้อย่างยิ่ง