“สภาพัฒน์” ชี้ 3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทย แนะเร่งปรับโครงสร้าง เพิ่มโอกาสเติบโต

“สภาพัฒน์” ชี้ 3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทย แนะเร่งปรับโครงสร้าง เพิ่มโอกาสเติบโต

“ดนุชา” แนะไทยเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รับการเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยง 3 ด้าน ทั้งหนี้สูง อัตราเงินเฟ้อสูง คนสูงอายุเพิ่มเร็ว ระบุ 10 ปีข้างหน้าต้องเน้นสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหยืดยุ่น ล้มแล้วลุกได้เร็ว เพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา ควบคู่การเพิ่มความสามารถแรงงาน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนา “Future of Growth Thailand Vision 2030” ในหัวข้อระบบเศรษฐกิจในทศวรรษใหม่ในงานวานนี้ (9 ก.พ.) ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่ายังมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดี แต่กำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

โดยนอกจากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางมากขึ้นจากหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะที่สูงขึ้น รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัว และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมจากการลงทุนที่ลดลงทั้งจากภาคเอกชน และภาครัฐ การขาดการลงทุนในส่วนของการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม (R&D) ทำให้ผลิตภาพแรงงานไม่เติบโตเท่าที่ควร รวมทั้งโครงสร้างประชากรที่จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2578

ทั้งนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาคือการพึ่งพารายได้จากภาคส่วนใดของเศรษฐกิจมากเกินไปทำให้เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 แล้วเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ต่างจากหลายประเทศที่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว แต่ประเทศไทยเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า

เนื่องจากเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงคือ 18 – 19% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเมื่อการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว นักท่องเที่ยวยังเข้ามาในประเทศไทยน้อยจากข้อจำกัดของโควิด -19 ทำให้เศรษฐกิจไทยจีดีพียังไม่ขยายตัวมากนัก

นอกจากนั้นในอนาคตยังมีความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินที่จะมีเรื่องคริปโตเคอร์เรนซี่เข้าเป็นทั้งปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย

นายดนุชากล่าวต่อว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้าต้องพัฒนาไปสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น (Resilience) เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่รองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของดิจิทัลที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งสามารถที่จะเผชิญกับวิกฤติที่เข้ามาในอนาคตได้

“ระบบเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น สามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติได้รวดเร็ว ถึงแม้ว่าเราจะล้มลงบ้าง แต่เมื่อล้มลงแล้วสามารถลุกขึ้นได้เร็ว และเดินหน้าต่อไปได้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในอนาคต” นายดนุชา กล่าว

ในระยะ 10 ปีข้างหน้าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันทำงาน และให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่อง R&D เพื่อสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเพิ่มความสามารถและทักษะในการทำงาน และเพิ่มผลิตภาพการผลิตมากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้มีการรวบรวมไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่างฯและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และจะประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2566 ต่อไป