ทีดีอาร์ไอแนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รับ 3 ประเด็นท้าทายยุค New Normal

ทีดีอาร์ไอแนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ  รับ 3 ประเด็นท้าทายยุค New Normal

ทีดีอาร์ไอชี้ศรษฐกิจไทยในอีก 5 - 10 ปีเผชิญความท้าทายสูง การขยายตัวต่ำ มีความเสี่ยงมากขึ้นหลังปัญหาโควิด แนะวางอนาคตภาคท่องเที่ยวรับนิว Nwe Normal โควิด สร้างเศรษฐกิจใหม่สร้างรายได้รับภาวะหนี้สูง สร้างสมดุลย์เทคโนโลยี - แรงงาน วางแผนรับสังคมสูงอายุ - เทคโนโลยีดิสรับ 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจเหมือนกับการสร้างขบวนรถไฟต้องหารถไฟที่วิ่งไปข้างหน้าให้ถึง แต่หากเรามีรถไฟที่ดีวิ่งได้เร็ว แต่คนไทยทุกคนไม่ได้อยู่บนรถไฟขบวนนั้นก็ถือว่าการพัฒนาไม่สมดุลย์ ดังนั้นในมิติของสังคมก็มีความสำคัญเช่นกัน

ในระยะ 5 ปีข้างหน้า สิ่งสำคัญจะอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในระยะ 5 ปีข้างหน้ายังมีความไม่ชัดเจนว่าโควิด-19 นั้นจะหมดไปจากโลกหรือยัง หรือว่าจะมีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นเพราะในระยะหลังมีสัญญาณว่าโควิด-19 อาจจะกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลที่เกิดขึ้นทุกปี ในบางประเทศที่มีการควบคุมได้ในระยะหนึ่งมีการฉีดวัคซีนมากอย่างเช่นกรณีของอิสราเอล ที่ยังมีผู้ติดเชื้อถึงวันละประมาณ 5,000 คน และเสียชีวิต 20 – 30 คนต่อวัน

กรณีของประเทศไทยเมื่อมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรอิสราเอลเราอาจจะเห็นตัวเลขที่เป็นระดับ Normal คือติดเชื้อวันละประมาณ 20,000 คนและเสียชีวิตวันละประมาณ 100 คน หรือถ้าลดลงมาได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์อาจจะเป็น Solution ของเราที่อยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยใช้วัคซีนที่มีคุณภาพและยอมรับว่าจะมีการติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตแต่ต้องหาทางที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้

บนสมมุติฐานที่เรายังคงต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 มีโจทย์ที่ประเทศไทยจะต้องวางแผนสำหรับอนาคตหลายเรื่องได้แก่

1.นโยบายการท่องเที่ยวในอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยเคยรับชาวต่าชาติปีละ 40 ล้านคนสร้างรายได้มากกว่าปีละ 2 ล้านล้านบาท แต่การท่องเที่ยวในอนาคตมีโจทย์ที่เป็นความท้าทายว่าไทยเราจะตัดสินใจอย่างไรจะรับนักท่องเที่ยวในจำนวนมากเท่าเดิม แล้วรับความเสี่ยงเข้ามาด้วย หรือเราจะรับนักท่องเที่ยวจำนวนน้อยลงแต่มีคุณภาพมากขึ้น โดยวางแผนว่าจะรับนักท่องเที่ยวจำนวนน้อยแต่สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวได้มากขึ้นหรือเท่าเดิม

“กรณีเราจะรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเท่าเดิม ความเสี่ยงคือมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ มีเชื้อกลายพันธุ์ตัวอื่นเข้ามาก็หมายความว่าเราต้องมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งที่จะรองรับได้ และมีระบบที่จะจัดการไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างในประเทศอีกจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางระบบสาธารณสุขให้มาก”

2.เครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Growth Driver) ในช่วงหลังโควิด-19 ในวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากและส่งผลต่อระดับหนี้สินทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และหนี้สาธารณะของภาครัฐที่ใกล้เกินระดับความยั่งยืนทางการ ทำให้เกาะคุ้มกันเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเปลี่ยนไป จากที่มีภาวะหนี้ต่ำเป็นเกาะคุ้มกันทางเศรษฐกิจแต่เมื่อเผชิญกับโควิด-19 มาระยะหนึ่งหนี้สินเพิ่มขึ้นสูงมากโดยหนี้สินของภาคครัวเรือนเพิ่มจากระดับ 80% เป็นสูงกว่า 90% ของจีดีพี หนี้ภาคธุรกิจเอกชนหากดูในเรื่องของหนี้ที่เป็นส่วนของการเฝ้าระวังคือยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่มีการจัดชั้นไว้ในส่วนของหนี้ที่ได้รับการจับตาเป็นพิเศษนั้นเพิ่มสูงมาก ส่วนภาครัฐก็มีการกู้เงินใกล้จะถึง 60% ของจีดีพี

โจทย์ความท้าทายในระยะ 5 ปีข้างหน้าคือจะทำอย่างไรให้เราสามารถขยายเศรษฐกิจได้ในภาวะที่หนี้สูง จะทำอย่างไรให้รายได้เติบโตกว่ามูลหนี้โดยการเพิ่มรายได้มีเป้าหมายเพื่อนำรายได้ไปลดจำนวนหนี้สิน เพื่อสร้างเกาะคุ้มกันทางเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติอื่นๆในอนาคต

นณริฏกล่าวว่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องโฟกัสไปที่การขับเคลื่อนว่าต้องส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับธุรกิจ และเกิดประโยชน์กับคนจำนวนมาก มีผู้ที่ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมต่างๆที่พัฒนาขึ้นใหม่อย่างยั่งยืน ในส่วนที่มีความสำคัญแล้วภาครัฐเริ่มทำแล้ว เช่น เรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีเป้ามหายว่าในปี 2050 รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยจะเป็นรถ EV ทั้งหมด

ในส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรที่จะต้องเน้นการสร้างรายได้ เพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าก็ต้องเร่งรัดดำเนินงาน เพราะไทยมีแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก นอกจากนั้นเราต้องการภาคอุตสาหกรรม ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาอัพเกรดการผลิต เราต้องการการสื่อสารและแพลตฟอร์มทันสมัยที่ใช้ประโยชน์จาก 5G เพื่อให้ชุมชนหมู่บ้านสามารถเข้าถึงการขายสินค้าออนไลน์จากชุมชนไปทั่วโล

ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยควรจะเน้นจากจุดแข็งและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ โดยศาสตร์ของ MBA พูดไว้ได้น่าสนใจ คือการประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ 88% มาจากไอเดียร์ปกติแต่เราทำอย่างถูกต้อง ดังนั้นในการปรับเปลี่ยนประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็คือทำจากในสิ่งที่เรามีอยู่ ในส่วนของประเทศไทยก็สามารถที่จะต่อยอดได้ก็คือในเรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรื่องของกรพัฒนาพื้นที่อีอีซี การพัฒนาธุรกิจดิจิทัลจาก 5G ที่มีการประมูลแล้ว

ส่วนอีก 12% ที่จะเป็นโอกาสเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไปคือโครงการเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เช่น คลองไทย ถ้าขุดคลองไทยได้เราจะเป็นเสือนอนกิน จะสามารถเป็นเส้นทางคมนาคมที่น่าสนใจทางเรือของโลกได้ โดยโครงการลักษณะนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว และแสวงหาโอกาสจากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่เชื่อมไปถึงตอนใต้ของจีนและยุโรปได้

นอกจากนั้นในช่วงที่ยังอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 การเตรียมความพร้อมที่ต้องทำคือในเรื่องของการปรับปรุง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำทุกอย่างไว้ให้พร้อม เหมือนกับคนเลี้ยงม้าที่เตรียมความพร้อมในฤดูหนาว เมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นไปก็สามารถที่จะคว้าโอกาสใหม่ๆเอาไว้ได้ทันที

“ในช่วงที่เกิดวิกฤติภาครัฐจะมีบทบาทในการเข้ามามากในการเตรียมความพร้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงทักษะแรงงาน การสนับสนุนเทคโนโลยี ภาคท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้เพื่อที่หลังโควิด-19 ก็จะพร้อมนำมาใช้ ให้ประเทศพร้อมที่จะแข่งขันได้”นายนณริฏ กล่าว

3.รับมือกับความท้าทายการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีควบคู่กับการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตามที่บอกว่าการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ต้องมั่นใจว่าแรงงานไทย คนไทยต้องอยู่บน “รถไฟ” ขบวนนั้น แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ประกอบกับสังคมสูงวัยจะทำให้แรงงานบางส่วนที่ปรับตัวไม่ทันจะตกขบวนรถไฟ ในอนาคตอันใกล้การเข้ามาที่รวดเร็วของหุ่นยนต์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่ใช้แรงงงานเข้มข้น และใช้ทักษะการทำงานซ้ำๆในที่สุดจะถูกแทนโดยโรบอร์ตและปัญญาประดิษฐ์ ( AI) แม้กระทั่งงานของ Driver หรือไรเดอร์ เช่นแท็กซี่ คนที่ขับรถซื้อของ-ส่งของเป็นไรเดอร์ตามท้องถนน อีกไม่นานจะเริ่มมีโดรนและหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เป็นหุ่นยนต์ที่มีการใช้ AI เข้ามาใช้แทนที่คนมีการอัพเกรดโปรแกรมในการรักษาความปลอดภัยและเชื่อมต่อกับสถานีตำรวจ

“การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ แรงงานไทยที่มีอายุมากขึ้น จะหางานได้ยากขึ้น และโดนการดิสรับชั่น จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ความเสี่ยงก็คือเมื่อสร้างอุตสากรรมใหม่ๆเพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น แต่คนที่มีอายุมากขึ้นแล้วปรับตัวไม่ทัน อาจไม่ได้ประโยชน์ในการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ดังนั้นต้องหาทางที่จะสร้างบานลานซ์ระหว่างการใช้แรงงาน การใช้เทคโนโลยี เหมือนกับการเดินทางที่ต้องเอาคนขึ้นรถไฟไปพร้อมๆกัน ไม่เช่นนั้นสังคมก็จะเหลื่อมล้ำมากขึ้น ปัญหาสังคมก็จะตามมาได้”