‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่32.97บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่32.97บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทผันผวน ตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมาก ปัจจัยหนุนเงินบาทฝั่งแข็งค่า มากจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำที่เพิ่มมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 32.90-33.05 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(8ก.พ.)ที่ระดับ32.97 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.03 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.05 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดมีแนวโน้มยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ทำให้เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways หรือแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนเงินบาทฝั่งแข็งค่า คือโฟลว์ขายทำกำไรทองคำที่เรามองว่าจะมีมากขึ้น หลังราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับแนวต้านสำคัญในโซน1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง 

ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทคงไม่แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก็เป็นโซนที่ฝั่งผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทก็รอขายทำกำไรสถานะเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าเช่นกัน

ผู้เล่นในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ในเดือนมกราคม ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด หากเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้สะท้อนผ่าน CME FedWatch Tool ที่ผู้เล่นในตลาดมองว่ามีโอกาสถึง 25% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 0.50% จากเดิมที่เคยมองว่ามีโอกาสเพียง 9% ในสัปดาห์ก่อนหน้า  ทั้งนี้ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้ส่งผลให้ตลาดยังคงเลือกที่จะลดความเสี่ยงการถือครองหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth โดยเฉพาะบริษัทที่รายงานผลประกอบการแย่กว่าคาด ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.58% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ย่อตัวลงราว -0.37% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้ราว +0.83% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการระบาดของโอมิครอนได้ผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว อาทิAirbus +2.4%, BNP Paribas +2.2% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ ที่ปรับตัวลงหนักในสัปดาห์ก่อน อาทิ Adyen +2.3%, SAP +1.9%, ASML +1.5% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในระยะสั้นยังคงต้องเฝ้าระวังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/ชาติพันธมิตรนาโต้ ที่อาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดผันผวนหนักได้

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.92% หลังจากที่พุ่งขึ้นจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานในวันศุกร์ที่ผ่านมานั้นออกมาดีกว่าคาด สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดไปมากแล้ว โดยปัจจุบัน ตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่เราเชื่อว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ อาจกดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้นไปมาก อาทิ ทะลุระดับ 2.0% ไปได้

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 95.42 จุด อย่างไรก็ดี แนวโน้มตลาดที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ รวมถึง ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ขณะที่ทั้งดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวที่ระดับเดิม ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าจะเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาพอสมควร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะประเมินว่า นักลงทุนสถาบันยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปรวมถึงแนวโน้มตลาดหุ้นยุโรป หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนอาจผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว และข้อมูลเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15.2 จุด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังและติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อย่างใกล้ชิด หลังการเจรจาที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จในการลดความตึงเครียด ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างเดินหน้าเสริมกำลังทหารในพื้นที่ ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงได้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในช่วงต้นปีจะกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในภาคการบริการชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) เดือนมกราคม ที่จะลดลงแตะระดับ 50.5 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)