สทนช.ชงแผน2แนวทาง ลงทุนผลิตน้ำจืดจากทะเล

สทนช.ชงแผน2แนวทาง ลงทุนผลิตน้ำจืดจากทะเล

สทนช.เสนอประวิตร เห็นชอบกรอบการศึกษาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ฟันธง จะสร้าง – เช่าโรงงาน คาดได้น้ำจืด 2 แสนลบ.ม. ต่อวัน เพิ่ม 2.20 % ของน้ำต้นทุนผลิต 49.15 บาท ต่อ ลบ.ม.

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้ความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่ม โดยมีการสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำเพิ่ม รวมมีแผนการผลิตน้ำจืดจากทะเลที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2564

สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ภาครัฐมีแผนสร้างหลักประกันความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำภาคอุตสาหกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี โดยเสนอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ ต้องศึกษาเชิงลึกความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อมและรูปแบบการลงทุน ซึ่งระยะเร่งด่วนภาคเอกชนอาจผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่เศรษฐกิจที่ต้องการน้ำมากในปี 2564-2567

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ศึกษาเทคนิคและวิธีการกลั่นน้ำทะเลในต่างประเทศ เช่น สเปน สิงคโปร์ เม็กซิโก อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน บาร์เรน จีน สหรัฐ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ส่วนใหญ่ใช้ระบบ Reverse Osmosis ที่มีคุณภาพใช้ดื่มหรือเป็นน้ำประปา มีกำลังการผลิต 136,000-624,000 ลบ.ม.ต่อวัน และบางโครงการลงทุนลักษณะ Mobile Unit กำลังการผลิต 1,600-2,000 ลบ.ม.ต่อวัน ใช้เทคโนโลยี SWRO ของญี่ปุ่น

สำหรับแหล่งน้ำอีอีซีในปัจจุบันมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำ 1,368 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ฤดูแล้ง) 597 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำท่า (ฤดูแล้ง) 395 ล้าน ลบ.ม. ท่อผันน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม. และบ่อบาดาล 79 ล้าน ลบ.ม.รวมปริมาณน้ำทั้งหมดในปี 2563 จำนวน 2,539 ล้าน ลบ.ม. โดยความต้องการใช้น้ำต่อปีในปี 2563 อยู่ที่ 2,419 ล้าน ลบ.ม. ปี 2570 จำนวน 2,888 ล้าน ลบ.ม. และปี 2580 จำนวน 3,019 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ หากมีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน จะทำให้มีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่ม 2.20% ของปริมาณน้ำทั้งหมด และหากดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในอีอีซี 38 โครงการตามแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกของ สทนช.คาดว่าปริมาณน้ำในปี 2580 อยู่ที่ 3,484 ล้าน ลบ.ม.พอรองรับอีอีซี

160872582855

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเพราะปัญหาสังคมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจึงสำคัญเพื่อรองรับความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำรวมทั้งหากลงทุนโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลระยะยาวอาจต้องกำหนดให้เป็นน้ำต้นทุนอีกประเภทที่นำมาอุปโภคบริโภคและใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้นอกเหนือน้ำต้นทุนจากน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินรวมถึงกำหนดนโยบายสนับสนุนค่าน้ำจืดจากน้ำทะเลเพื่อให้ต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลใกล้เคียงน้ำประปาและน้ำภาคอุตสาหกรรม

ส่วนแนวทางโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลปี 2564 - 2567 มีดังนี้ 

1.การศึกษาและกำหนดนโยบายดำเนินการปี 2564 ประกอบด้วย การศึกษาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล การจัดทำนโยบายราคาน้ำจืดจากน้ำทะเล และจัดทำสิทธิประโยชน์ทางภาษี

2.การเตรียมการลงทุนปี 2564 ประกอบด้วย จัดหาพื้นที่ การทำสัญญาราคารับซื้อ-ขายน้ำ ประสานหน่วยงานภาครัฐ และขออนุมัติอนุญาต เช่น สร้างโรงงาน วางจุดสูบน้ำเข้า-ออกสู่ทะเล และจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเชื่อมโยงระบบท่อและระบบไฟฟ้า การทำความเข้าใจ และมวลชนสัมพันธ์ประชาชนรอบโครงการ

3.การก่อสร้าง ดำเนินการปี 2565-2566 ประกอบด้วย ก่อสร้างโรงงาน บนพื้นที่ 20 ไร่ เชื่อมโยงระบบท่อและระบบไฟฟ้า การทำความเข้าใจและมวลชนสัมพันธ์ประชาชนรอบโครงการ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ดำเนินการปี 2567 ขอสัมปทานจำหน่ายน้ำประปา ทดสอบระบบ และเริ่มการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

แหล่งข่าวจาก สกพอ.กล่าวว่า การวิเคราะห์ความเป็นได้ในการลงทุนโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลของ สทนช.กำหนดสมมุติฐาน แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 การสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ปริมาตรน้ำที่ผลิต 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน พื้นที่ 20 ไร่ สัญญา 20 ปี

กรณีที่ 2 รัฐสนับสนุนดอกเบี้ย 1% การลงทุนโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแบบเช่า ปริมาตรน้ำที่ผลิต 21,000 ลบ.ม.ต่อวัน พื้นที่ 3 ไร่ สัญญา 6 เดือน

สรุปผลการวิเคราะห์ตามให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และสนับสนุนของภาครัฐ เป็น 4 ประเภท พบว่า 1.กรณีไม่ได้รับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีอัตราต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 49.15 บาท ต่อ ลบ.ม. 

2.กรณีได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) และลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีก 50% ระยะเวลา 5 ปีอัตราต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะมีลดลงเหลือ 42.10 บาท ต่อ ลบ.ม.

3.กรณีรัฐออกมาตรการสนับสนุน เช่น การให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) และลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีก 50% ระยะเวลา 5 ปี อัตราต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะลดลงเหลือ 32.40 บาท ต่อ ลบ.ม.

4.กรณีการลงทุนโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแบบเช่า ไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสนับสนุนของภาครัฐ อัตราต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 88 บาท ต่อ ลบ.ม.