5 เขื่อนใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่า 50 % รุก 9 มาตรการแล้งป้องขาดแคลน

5 เขื่อนใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่า 50 % รุก 9 มาตรการแล้งป้องขาดแคลน

ภัยแล้งยังเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องเฝ้าระวังในปี 65 โดยทีท่าทีรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี64 จะเห็นได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆขณะนี้มีปริมาณใช้การได้ต่กกว่า 50 % ถึง 4แห่งจึงต้องเข้มมาตรการเพื่อรองรับการขาดแคลนน้ำ

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  กล่าวว่า   สทนช.ได้เร่งกำกับติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนงานโครงการตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงแล้ง ปี 2564/65 เพื่อทำงานเชิงรุกในการรับมือสถานการณ์น้ำล่วงหน้า
และป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำของประชาชน

โดยได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 – 3 ลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และสำรวจสภาพปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเป็นปัจจุบัน ตามที่ กอนช.ได้มีการคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งในเขตบริการการประปาส่วนภูมิภาค รวม 33 สาขา 24 จังหวัด และนอกเขตบริการของการประปาภูมิภาค (ประปาท้องถิ่น) รวม 5 จังหวัด 9 อำเภอ 25 ตำบล

รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้งเพื่อการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน แบ่งเป็น พื้นที่เพาะปลูกนารอบที่ 2 (นาปรัง) ในพื้นที่ 11 จังหวัด 28 อำเภอ 64 ตำบล และสำหรับพืชต่อเนื่อง กรณีไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ 4 จังหวัด 10 อำเภอ 23 ตำบล ประมาณ 32,604 ไร่ โดยหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในพื้นที่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง พิจารณาแผนงานโครงการมาตรการป้องกัน
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

หากมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาได้ทันที ให้เร่งเสนอแผนงานโครงการมายัง สทนช. เพื่อพิจารณขอรับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลได้ทันก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน สทนช. ยังกำกับติดตามการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้การจัดสรรน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ เพียงพอตลอดช่วงแล้งนี้  โดยล่าสุดวันที่ 30 ธ.ค. 64 พบว่า มีเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่า 50% รวม 5 แห่ง ได้แก่

            *เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำใช้การ   102.81 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 40.72 %

           * เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำใช้การ   71 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น  28.51 %

           *  เขื่อนภูมิพลมี ปริมาณน้ำใช้การ 4,244 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43.92 %

           *  เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การ1,542ล้านลบ.ม. คิดเป็น 23.15 %

            * เขื่อนคลองสียัดมีปริมาณน้ำใช้การได้ 177 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 45.38 %

 

ซึ่งจากการติดตามแผนและผลการจัดสรรน้ำ พบว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน ซึ่ง สทนช.จะเร่งหารือกรมชลประทานปรับการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นไปตามแผนที่วางไว้

            “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. กำชับให้ กอนช. ติดตามการจัดทำแผนและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง ปี 2564/65 โดยให้เร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด อาทิ

จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลน การจัดสรรน้ำช่วงแล้ง วางแผนเพาะปลูกพืชช่วงแล้ง  เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และ สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ ควบคู่ไปกับการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยช่วงฤดูฝนของภาคใต้ในขณะนี้”  

 

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า   อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 53,368.93  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 75% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 29,827 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 42.05 %  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,176 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 7,480 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น  41 % 

กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 (วันที่ 1 พ.ย. 2564 – 30 เม.ย. 2565) จากปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย.  2564 จำนวน 37,857 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศจำนวน 22,280 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้

เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 11,785 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,535 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 518 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,442 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนปี 65 อีก 15,577 ล้าน ลบ.ม. 

 

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 5,700 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 2,415 ล้าน ลบ.ม. (พืชฤดูแล้ง 445 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่คาดการณ์ปลูกข้าวนาปรัง 1,970 ล้าน ลบ.ม.) เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 2,000 ล้าน ลบ.ม.