“พลังงาน”เล็งหาแหล่งเงิน ยันต้นทุนพุ่งพยุงค่าไฟฟ้า

“พลังงาน”เล็งหาแหล่งเงิน ยันต้นทุนพุ่งพยุงค่าไฟฟ้า

จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว การผลิตสินค้าต่างๆ มีกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น อาจส่งผลต่อราคาค่าไฟที่สูงขึ้นเช่นกัน จึงอาจเป็นการซ้ำเติมค่าครองชีพประชาชนซึ่งพบว่าปีนี้เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าจับตามอง 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางค่าไฟฟ้าปี 2565 อาจจะต้องปรับขึ้นแบบขั้นบันได เนื่องจากประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจี) เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง โดยส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้า และอีกส่วนหนึ่งคือการดึงเอาก๊าซฯ จากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยมีผู้ได้รับสัมปทาน

โดยราคาเชื้อเพลิงดังกล่าวก็จะอิงกับราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน เมื่อน้ำมันมีราคาสูง ราคาก๊าซฯ ก็สูงขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาก 

โดยให้นําเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พ.ย.2564 จํานวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมดไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

สาเหตุที่ต้องวางแผนการดูแลค่าไฟฟ้าในระยะยาวเนื่องจาก ในส่วนของสัมปทานแหล่งก๊าซฯ เอราวัณเดิมที่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้เฉลี่ย 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่มีปริมาณลดลง โดยผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ต้องใช้เวลาในการเพิ่มกำลังผลิตจากสัญญา แต่ในช่วงรอยต่อของการเข้าไปบริหารกิจการเดือนเม.ย. 2565 จะเหลืออยู่ที่ราว 420-425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กำหนดไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งจากรายงานของปตท.สผ.ได้คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มมากขึ้น และอาจกระทบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

"เบื้องต้นที่คาดการณ์ว่าราคาพลังงานจะสูงขึ้นต่อเนื่อง กกพ.จะต้องปรับค่าFt แต่จะปรับขึ้นราคาเป็นขั้นบันได เพราะมองว่าแนวโน้มราคาค่าไฟอาจจะขึ้นทั้งปี2565”

“พลังงาน”เล็งหาแหล่งเงิน ยันต้นทุนพุ่งพยุงค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมี.ค.2565 กกพ.จะออกประกาศมติอีกในรอบใหม่อีกครั้ง เบื้องต้น ราคาน่าจะขยับนิดหน่อยจากมติเมื่อเดือนพ.ย.2564 ที่เรียกเก็บค่าค่า Ft งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ จากปัจจุบัน -15.32 สตางค์ในงวดก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ทั้งนี้ ยืนยันว่ากกพ.จะพยายามทำให้ค่าไฟมีเสถียรภาพมากที่สุด

ดังนั้น อาจมีการตั้งกองทุนที่มีลักษณะTake or Payเพื่อมีเงินไว้ใช้แก้ปัญหาในระยะยาวว่าราคาเชื้อเพลิงอาจจะผันผวน มีความไม่แน่นอน เมื่อราคาเชื้อเพลิงสูงก็จะสามารถนำเงินจากกองทุนมาช่วยอุดหนุนและใช้ในระยะยาว ช่วยพยุงราคาให้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง ส่วนแผนพลังงานทดแทนในปี 2565 อาทิ โซลาร์ภาคประชาชน กกพ.อยู่ระหว่างเตรียมประกาศสัญญาซื้อขายเข้าระบบ ส่วนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จะมีการรับซื้อตามลำดับ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป  (เงินเฟ้อ) เดือนม.ค. 2565 สูงขึ้น3.23%  (YoY) สูงสุดในรอบ 8เดือน ปัจจัยสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้น19.22%  

สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่มากนัก สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาในตลาดโลก  ประกอบกับราคาฐานของเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะสูงขึ้น 1.5% จากปัจจัยจีดีพีขยายตัว 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 63-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ย 31.5-33.5บาทต่อดอลลาร์