กกพ.มองปี2565 ค่าไฟแพงประชาชนแห่ติดโซลาร์ลดค่าใช้จ่าย

กกพ.มองปี2565 ค่าไฟแพงประชาชนแห่ติดโซลาร์ลดค่าใช้จ่าย

กกพ.เผยปี2564 โซลาร์ภาคประชาชนรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ คาดปี2565 ปริมาณรับซื้อไฟเหลือ 10 เมกะวัตต์ ล่าสุดลงนามซื้อขายไฟ 851 ราย 4.76 เมกะวัตต์ รวมปี62-64 COD 994 ราย กำลังผลิตติดตั้งแค่ 5.49 เมกะวัตต์ มองแนวโน้มปี2565 ค่าไฟแพงหนุนให้คนหันมาติดตั้งเพื่อลดรายจ่าย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือ โซลาร์ภาคประชาชน ปี2565 คาดว่าจะเปิดรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ เนื่องจากการเปิดรับในปี2564 ปริมาณ 50 เมกะวัตต์เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ขายเข้าสู่ระบบจาก 1.68 บาทต่อหน่วยเป็น 2.20 บาท/หน่วย พบว่า 174 รายจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ประมาณ 1 เมกะวัตต์ เท่านั้น และเมื่อรวมดำเนินการตั้งแต่ปี 2562-จนถึง 30 พ.ย.2564 มี 994 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 5.49 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม นโยบายยังเดินหน้าส่งเสริมโครงการฯ ต่อไป ล่าสุดได้หารือกับทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วางไว้ปี2565 เบื้องต้นที่ 10 เมกะวัตต์ เพราะรัฐเองก็ไม่ได้คาดหวังในเรื่องของปริมาณไฟฟ้าจากโครงการนี้เพราะต้องเข้าใจว่าหลังคาบ้านประชาชนติดตั้งได้ราว 5 กิโลวัตต์เท่านั้น ปีหนึ่งๆ ได้ระดับ 100 กว่าหลัง ดังนั้น 10 เมกะวัตต์จะมีบ้านติดได้ราว 2,000 หลังถือว่าค่อนข้างมากอยู่

ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามที่อยู่อาศัยถือเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนมากกว่าว่า ช่วยประหยัดไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือต้องการเรื่องสิ่งแวดล้อม การติดตั้งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งความคุ้มค่าการลงทุน เพราะถ้าเน้นใช้กลางคืนก็จะต้องติดระบบแบตเตอรี่ (ESS) ที่ต้องลงทุนเพิ่ม อีกทั้งจะต้องดูโครงสร้างว่าเอื้อต่อการติดตั้งหรือไม่ และมองว่าค่าไฟฟ้าปี 2565 ที่ปรับตัวสูงอาจจะทำให้ประชาชนสนใจติดตั้งมากขึ้น ส่วนราคาแผงโซลาร์ฯ ที่แพงขึ้นขณะนี้มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นแต่เชื่อว่าในที่สุดการผลิตก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามมาและทำให้ราคามาอยู่ในจุดสมดุลได้  

สำหรับรายละเอียดโครงการโซลาร์ภาคประชาชนสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2564 ที่มีการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 35 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 15 เมกะวัตต์ โดยวันที่ 30 พ.ย.2564 มีผู้ยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าที่มีเอกสสารครบถ้วน 2,027 รายกำลังผลิตติดตั้ง 11 เมกะวัตต์ ผ่านการตรวจสอบด้านเทคนิค 1,864 ราย (กฟน.1,046 ราย กฟภ.818 ราย) กำลังผลิตติดตั้งรวม 10 เมกะวัตต์ ลงนามซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 851 ราย รวมกำลังผลิตติดตั้ง 4.7 เมกะวัตต์และจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) 174 รายรวมกำลังผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตรที่เปิดรับคำเสนอขอขายไฟฟ้ารวม 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงเรียนและสถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ โรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์ สูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ เริ่มตั้งแต่ 1 มิ.ย.2564-30 ก.ย.2564 มีผู้ยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้ารวม 79 รายกำลังผลิตติดตั้ง 8.8เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงเรียนและสถานศึกษา 72 ราย และสูบน้ำเพื่อการเกษตร 7 รายส่วนโรงพยาบาลไม่มีการยื่นเสนอ  แต่ผ่านการตรวจสอบด้านเทคนิค 21ราย (โรงเรียน สถานศึกษา20ราย) สูบน้ำเพื่อการเกษตร 1 ราย รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2.3 เมกะวัตต์ ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 7 รายรวมกำลังผลิต 0.79 เมกะวัตต์