ชู 3 แนวทาง ’แก้’ ปัญหา SME หนี้ท่วม​ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน​

สมาพันธ์เอสเอ็มอี​ไทย ชี้​ ผู้ประกอบการไทยหนี้ท่วม​ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ​และกลไกรัฐ​ แนะ​ 3 แนวทางช่วยเหลือ​ ร่วมพูดคุยกับ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย​

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยิ่งใหญ่กว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากประเภทกิจการส่วนใหญ่อยู่ในภาคการบริการ 41% และการค้า 40% มีภาคการผลิต 17% และเกษตร 2% ซึ่งถูกสั่งให้ปิดกิจการและขาดรายได้เป็นเวลานาน อีกทั้งเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงเจอข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน มีเพียง 25% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้

นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐมีสัดส่วนการลงทุนไทยแค่ประมาณ 20% และส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง และภาคตะวันออกซึ่งเป็นเขตพัฒนาพิเศษ ส่วนจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำและอยู่ติดชายแดนกลับไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร ตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเอสเอ็มอีมีสัดส่วนเพียง 34% สะท้อนขีดความสามารถของเอสเอ็มอีที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต้องการให้รัฐโอบอุ้มเพื่อจะเดินหน้าต่อ

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้ข้อสรุป 3 ประเด็น เสนอเป็นแนวคิดการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ดังนี้ 1. แก้หนี้ 3 กอง ได้แก่ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ พร้อมเติมทุนให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเสนอให้ทำ SME Credit Scoring Card เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนชี้แจงแก้ไขหนี้ มีพี่เลี้ยงด้านการเงินให้คำแนะนำเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเครดิตดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้กับคู่ค้า การซื้อวัตถุดิบ การจ้างงาน เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการได้ 30-60 วัน อีกทั้งยังเป็นการเก็บข้อมูลการทำธุรกิจให้ภาครัฐ และสถาบันการเงินต่อยอดการใช้งานในการออกนโยบายและสินเชื่อ

2. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และยกระดับด้านนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้สินค้าของเอสเอ็มอีระดับท้องถิ่นเติบโตได้ในระดับประเทศและตลาดโลก

3. การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีรายเล็กให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์